การป้องกันกำจัดแมลงศัตรู

1. ระยะเตรียมโรงเรือน – ระยะนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากเพราะหากเตรียมในโรงเรือนที่สะอาด,ดีถูกสุขลักษณะ จะทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นลดลงมากกว่า 80% ต้องทำความสะอาดเพื่อฆ่าแมลงและเชื้อโรคสะสมด้วยสารคลอรอกซ์อัตรา20 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือใช้สารฆ่าแมลงชนิด diazinon อัตรา 40 มล. หรือมาลาไทออนอัตรา 40 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นบริเวณพื้น, ฝาผนังและหลังคาโรงเรือนให้ทั่วทุกซอกทุกมุมควรปิดโรงเรือนให้มิดชิดและทิ้งไว้อย่างน้อย 7 -10 วัน

2. ระยะโรยเชื้อเห็ด (At spawning) – หรือระยะเตรียมเปิดจุกหรือระยะขนถุงเห็ดเข้าพักในโรงเรือน
(2.1) ติดตั้งกับตักกาวเหนียวสีเหลืองชนิดรูปทรงแบนหรือทรงกระบอกชนิดใดชนิดหนึ่ง จำนวน 6-8 ตัวต่อโรงเรือน (ขนาด 8×20 เมตร) โดยติดตั้งระหว่างชั้นเห็ดและมีระดับสูงจากพื้นโรงเรือนประมาณ 1.50 – 1.80 เมตร ที่สำคัญควรติดตั้งในที่ที่ไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางในการเข้าไปปฏิบัติงาน, ไม่ถูกน้ำบ่อย ถ้าเป็นไปได้ควรติดตั้งใกล้ๆ มุมมืดเพราะตัวแก่ของแมลงชอบเกาะอาศัยอยู่

(2.2) เปลี่ยนหรือนำกับดักมาล้างด้วยน้ำมันเบนชินและทาด้วยกาวเหนียวใหม่ทุก 20-30 วัน ตลอดฤดูการผลิตเห็ดแต่ละชนิด หรือพิจารณาว่าหากมีแมลงติดเต็มแล้วก็ควรนำมาเปลี่ยนหรือทากาวเหนียวซ้ำอีกให้เร็วขึ้น ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพการดักจับและลดปริมาณของแมลงที่จะทำลายเห็ดได้

(2.3) พิจารณาพ่นสารเคมีประเภท บี.ที. Bacillus thuringiensis หรือสารระงับการลอกคราบ (IGR) ชนิดใดชนิดหนึ่ง รวม 1 -2 ครั้ง ตามคำแนะนำต่อไปนี้ – B.t อัตรา 60-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทับลงบนถุงเห็ด- cyromazine (Trigard 75WP) อัตรา 60-80 กรัม พ่นทับลงบน Compost หรือก้อนเชื้อเห็ด

3. ระยะกลบหน้า (At casing) – ในกรณีเพาะเห็ดชมปิญองพิจารณาพ่นสารเช่นเดียวกับข้อ 2.3 อีก 1 ครั้ง

4. ระยะเก็บเกี่ยวรุ่นแรก (At first picking) – หรือดอกเห็ดรุ่นแรกหากพบตัวแก่ของแมลงเกาะตามมุมโรงเรือนหรือฝาผนัง, มุมอับ และพิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องใช้สารแนะนำให้พ่นด้วยมาลาไทออ อัตรา 20 มล.หรือไดอะซินอน อัตรา 40 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสเปย์กระป๋องฆ่าแมลงวันหรือยุงที่มีชายในท้องตลาด โดยพ่นตามพื้น. มุมโรงเรือน หรือพื้นที่ที่แมลงเกาะอยู่ ห้ามพ่นลงบนตอกเห็ดหรือถูกเห็ดโดยตรงซึ่งนอกจากจะเกิดพิษตกค้างในดอกเห็ดแล้ว ยังจะทำให้ดอกเห็ดเกิดอาการผิดปกติจนส่งขายในตลาดไม่ได้ด้วย

5. ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นที่ 2-3 (Second-Third picking) – หากพบว่าการระบาดยังรุนแรงให้ปฏิบัติตามข้อ 3 และ 4 ซ้ำ ดังนั้นหากมีการปฏิบัติตามทางเลือกในการป้องกันกำจัดแมลงวันศัตรูเห็ดในการผลิตเห็ดในโรงเรือนเพื่อการค้าย่างจริงจังและให้ผลตามที่คาดหวังไว้ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาการเข้าทำลายของแมลงศัตรูเห็ดที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรผู้เพาะเห็ดทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูได้ สามารถลดความเสียหายของผลผลิตเห็ดลงได้อย่างน้อย 40% ของผลผลิตที่ได้ทั้งหมด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นใจในการส่งเสริมการเพาะและการผลิตเห็ดเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตรเป็น “สินค้าส่งออก”

ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร