การบริหารศัตรูเห็ด

การเพาะเห็ดเป็นอาชีพในประเทศไทยได้มีวิวัฒนาการมาตามลำดับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 โดยอาศัยเทคโนโลยี การศึกษา วิจัย ค้นคว้า ทั้งใน และ ต่างประเทศ มีการเผยแพร่สู่เกษตรกรและผู้สนใจในลักษณะการทำเป็นอาชีพเสริมรายได้กระทั่งพัฒนาไปเป็นอาชีพหลักมีชาวฟาร์มเห็ดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และส่วนหนึ่งก็ล้มเลิกกิจการไป

เนื่องจากเห็ดเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนต่อหน่วยสูงในระยะเวลาอันรวดเร็ว และชาวฟาร์มเห็ดเน้นการผลิตเพียงอย่างเดียว การดูแลรักษาความสะอาดของฟาร์มจึงถูกละเลยก่อปัญหาการระบาดของโรคแมลงตลอดถึงศัตรูเห็ดอื่น ๆ ตามมาผลผลิตที่ได้ลดลงจนถึงขนาดเก็บเห็ดไม่ได้ก็มี การบริหารศัตรูเห็ดจึงเกิดความจำเป็นอย่างสำคัญยิ่ง แต่ก่อนที่จะบริหารศัตรูเห็ดให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องพิจารณาขั้นตอนต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการเพาะเห็ดก่อน ซึ่งขั้นตอนสำคัญมีดังนี้

1. การเลือกชนิดเห็ดที่จะผลิต – การคัดเลือกชนิดเห็ดที่จะเพาะเป็นขั้นแรกและสำคัญที่สุดเพราะเป็นการเริ่มต้นการผลิตทั้งระบบในการคัดเลือกชนิดเห็ดขึ้นอยู่กับตลาดสถานที่ตั้งฟาร์ม ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ความยากง่ายในการจัดหาวัสดุเพาะ ปัจจัยเหล่านี้นอกจากจะมีผลต่อการบริหารจัดการฟาร์มแล้ว เห็ดเป็นพืชที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลง จึงต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ ซึ่งเห็ดแต่ละชนิดจะมีการดูแลที่ต่างกัน

2. การคัดเลือกแม่เชื้อ – การคัดเลือกแม่เชื้อหรือแม่พันธุ์เป็นการเตรียมการขั้นตอนแรกของการทำเชื้อ สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือลักษณะประจำพันธุ์ ได้แก ผลผลิต คุณภาพสี ขนาดดอก และการตอบสนองต่ออุณหภูมิระดับต่าง ๆ แม่เชื้อเตรียมได้จากเนื้อเยื่อดอกเห็ดแม่เชื้อที่ดีจะต้องมีความบริสุทธิ์ ไม่เป็นโรคที่ติดต่อ จึงเกิดความจำเป็นในการเอาใจใส่การคัดเลือกแม่เชื้อเป็นสำคัญ

3. การทำเชื้อเห็ด – เชื้อเห็ดเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการเพาะเห็ดเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้พันธุ์เห็ดที่มีอัตราการเจริญสูง มีความแข็งแรง เส้นใยเจริญรวดเร็ว ให้ผลผลิตตรงตามความต้องการของตลาด ก็นำมาเพาะในวัสดุที่ปราศจากการปนเปื้อน พักตัว ผ่านการบ่มและเก็บรักษาอย่างถูกวิธี

4. การจัดเตรียมวัสดุเพาะเห็ด – การเตรียมวัสดุเพาะเห็ดมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามชนิดของเห็ดที่จะทำการเพาะ พอจะแยกกว้าง ๆ ออกได้เป็นการเตรียมวัสดุที่จำเป็นต้องหมัก เช่น การทำปุ๋ยเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนแบบอุตสาหกรรม หรือปุ้ยเพาะเห็ดแชมปิญองหรือแม้กระทั่งขี้เลื่อยไม้เบญจพรรณ ซึ่งจำเป็นต้องกองหมักทิ้งไว้ก่อน ส่วนการเตรียมวัสดุอีกประเภทหนึ่ง ได้แก่ วัสดุที่ไม่จำเป็นต้องหมัก เช่น ฟางสำหรับเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย และขี้เลื่อยไม้ยางพาราสำหรับเพาะเห็ดถุงชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

ในการเตรียมวัสดุที่ต้องหมักนั้น ข้อมูลหรือความรู้ที่สำคัญคือ ขั้นตอนต่างๆ ของการหมักธาตุอาหารที่ต้องใส่เพิ่ม วิธีและเวลาในการกลับกอง การให้ความชื้น ข้อมูลเรื่องความเป็นกรดเป็นด่างที่เหมาะสม ลักษณะทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมีหรือธาตุอาหารของปุ้ยเมื่อขบวนการหมักสิ้นสุดลง ความหนาบางของชั้นปุ้ยเมื่อใส่บนชั้นในโรงเรือนอุณหภูมิและระยะเวลาที่เหมาะสมในการอบไอน้ำเพื่อที่จะกำจัดศัตรูเห็ดและในขณะเดียวกันก็ปรับสภาพปุ๋ยหมักให้เหมาะสมกับชนิดเห็ดที่จะเพาะไปด้วย

ส่วนวัสดุที่ไม่ต้องหมักนั้น ข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต้องทราบได้แก่ ลักษณะทางกายภาพลักษณะทางเคมีอันได้แก่ความเป็นกรดเป็นด่าง ปริมาณธาตุอาหาร การเติมอาหารเสริม ระดับความชื้น การบรรจุถุงและการนึ่งฆ่าเชื้อก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีผลต่อผลผลิตและความเสียหายอันเนื่องมาจากการปนเปื้อนโดยเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่น วิธีการใส่เชื้อและระบบการใส่เชื้อซึ่งแตกต่างกันไปตามชนิดของเห็ด เชื้อเห็ดบางชนิดใส่โดยหว่านหรือคลุกกับวัสดุเพาะและสามารถทำได้โดยง่าย เชื้อเห็ดบางชนิดต้องการความระมัดระวังอย่างยิ่งในการใส่เชื้อลงในถุง มิฉะนั้นแล้วจะเกิดการปนเปื้อนเสียหาย เช่น เห็ดหอม

5. การดูแลรักษา – เริ่มตั้งแต่การบ่มเชื้อ การบังคับให้ออกดอก การให้น้ำและการเก็บดอก ข้อมูลที่จำเป็นต้องทราบ ได้แก่ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ปริมาณก๊าซออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ อุณหภูมิ ความชื้น ความเป็นกรดเป็นด่าง ในระยะความเจริญต่าง ๆ กันของเห็ดแต่ละชนิด ซึ่งนับว่าจำเป็นในการให้ผลผลิตเห็ดเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะ การบริหารศัตรูเห็ดไม่ให้ระบาดกระทบต่อผลผลิตเห็ด อันจะทำให้ฟาร์มเห็ดได้รับความเสียหาย จำเป็นต้องควบคุมดูแล เอาใจใส่ทั้ง 5 ขั้นตอนเป็นพิเศษ ซึ่งศัตรูที่เจ้าของฟาร์มเห็ดควรศึกษาให้รู้จักธรรมชาติ และลักษณะการระบาด เพื่อป้องกันก่อนก่อให้เกิดความเสียหายกับฟาร์ม แบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ 1. แมลง-ศัตรูเห็ด 2. โรคเห็ด

ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร