การเพาะเห็ด

เพาะในถุงพลาสติก – คือการนำขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อน หรือวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ชานอ้อย ฟางข้าว หมักและผสมกับอาหารเสริมบรรจุถุงพลาสติกนำไปนึ่งฆ่าเชื้อ และเปิดออก เช่น เห็ดขอนขาว เห็ดหูหนู เห็ดลม นางฟ้านางรม เห็ดเป๋าฮื้อ เป็นต้น มีวิธีทำให้เกิดดอกและการดูแลรักษาดังนี้

การดูแลรักษา

1. เห็ดนางรม นางฟ้า (ภูฐาน) เป๋าฮื้อ ยานางิ – จะเปิดถุงโดยเอาหนังยางสำลีออก ถอดคอขวดออกแล้วพับถุงเข้าที่เดิม นำก้อนไปเรียงซ้อนกัน จะใช้ชั้นไม้ไผ่ตัว A ชั้นไม้ตัว H หรือชั้นแขวนพลาสติกก็ได้ รดน้ำรักษาความชื้นในโรงเรือนให้มากกว่า 70% วันละ 2-6 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศโดยสเปรย์น้ำเป็นฝอย ระวังอย่ารดน้ำเข้าในถุง เพราะถุงจะเน่าและเสียเร็ว เก็บผลผลิตได้เมื่อดอกบานเต็มที่ แต่ขอบหมวกยังไม่บานย้วย

2. เห็ดหูหนู – ดึงสำลี ถอดคอขวด พับถุงพลาสติก ทำเป็นจุกรัดหนังยาง แล้วกรีดด้วยมีดเป็นรอยเฉียง 3 แนวๆ ละ 3 บั้ง นำไปแขวนหรือตั้งกับพื้น รดน้ำรักษาความชื้น 80-90% ประมาณ 5-7 วัน จะเห็นดอกเล็กๆ และอีก 5-10 วัน ดอกบานย้วยเต็มที่ก็จะเก็บดอกได้

3. เห็ดขอนขาว เห็ดลม – เอามีดกรีดตรงบ่าถุงออกทั้งหมด (เห็ดลมพักไว้ 1 เดือนก่อนกรีด) นำไปวางซ้อนบนชั้นตัว A หรือแขวน รดน้ำรักษาความชื้น มากกว่า 70% การดูแลเหมือนกับเห็ดนางฟ้า นางรม แต่ต้องการแสงและการระบายอากาศมากกว่า หลังจากเปิดดอกก้อนเชื้อจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลมากขึ้น การเกิดดอกใกล้เคียงกับเห็ดนางรมผลผลิตเห็ดถุงจะขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา โดยทั่วไปจะได้ผลผลิต เฉลี่ย 200-250 กรัม/ถุง

เพาะในโรงเรือน – ได้แก่ เห็ดฟาง เห็ดถั่ว หรือเห็ดโคนน้อย ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีในการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสม มีวิธีเพาะดังนี้

(วันที่ 1) – นำกากฝ้ายผสมเปลือกถั่วเหลืองลงเกลี่ยให้ทั่วกระบะ รดน้ำให้เปียกโชก (อุดรูกระบะ) แล้วรวมกากฝ่ายกองเป็นรูปยอดแหลม ตบกองให้แน่น คลุมด้วยผ้าพลาสติกและกระสอบป่านอีกชั้นหนึ่ง เปิดรูระบายน้ำออกให้แห้ง และทำการหมักต่อซังข้าวกับปูนขาวอีกทีหนึ่ง

(วันที่ 2) – เปิดผ้าคลุมออก กระจายกองกากฝ้าย แล้วนำส่วนผสมต่าง ๆ ทั้งหมดคลุกเคล้ากับกากฝ่ายให้ทั่ว แล้วรวมกองเป็นรูปฝาชี ใช้ผ้าพลาสติกคลุม หมักทิ้งไว้อีก 1-2 คืน

(วันที่ 3) – นำฟางที่หมักแล้วขึ้นเรียงบนชั้นในโรงเรือน เปิดผ้าคลุมกองออก กระจายเพื่อให้แก๊สที่เกิดหมดไป แบ่งออกเป็น 12 กอง เท่าๆ กับจำนวนชั้นเพาะ แล้วขนไปเกลี่ยบนฟางที่เรียงไว้ในโรงเรือนกระจายให้ทั่ว ให้ห่างจากริมฟางด้านละ 1 ฝ่ามือ ใช้มือกดให้แน่นพอประมาณ จากนั้นปิดโรงเรือนให้มิดชิดควบคุมอุณหภูมิ 40-45 องศาเซลเซียส โดยใช้ไอน้ำเพิ่มอุณหภูมิ เพื่อเลี้ยงเชื้อราชนิดหนึ่ง

(วันที่ 4) – ใส่ไอน้ำให้ได้อุณหภูมิ 60-65 องศา ประมาณ 5-6 ชั่วโมง ฆ่าเชื้อรา และเชื้ออื่นๆ แล้วพักโรงเรือนไว้ 1 คืน

(วันที่ 5-7) – โรยเชื้อเห็ดฟางให้ทั่วทุกชั้น (ชั้นละ 15-20 ถุง) ควบคุมอุณหภูมิไว้ ประมาณ 35-36 องศาเซลเซียสปิดโรงเรือนให้มิดชิดอย่าให้แสงเข้า ประมาณ 3 วัน เส้นใยเห็ดจะเดินทั่วแปลง

(วันที่ 8) – เมื่อเส้นใยเห็ดเดินทั่วแปลงแล้ว เปิดวัสดุบังแสงออกให้หมดทุกด้าน

(วันที่ 9) – เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อไล่แก๊สแอมโมเนียและแก๊สอื่นๆ ออก โดยเปิดโรงเรือนไว้ 3-5 นาที/ครั้ง

(วันที่ 10) – ควบคุมอุณหภูมิประมาณ 30-35 องศาเซลเซียสเมื่อเห็นว่าเกิดดอกเห็ดเล็กๆ ขึ้นมากพอจึงปิดแสงหลังจากนี้อีก 2-3 วัน ก็สามารถเก็บดอกเห็ดได้ผลผลิตเฉลี่ย 1.5 กิโลกรัม/ตารางเมตร

เพาะกลางแจ้ง – ได้แก่ เห็ดฟาง ซึ่งนิยมเพาะแบบกองเตี้ยจะใช้เวลาเพาะ 10-15 วัน

ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร