4.2 แมลงและสัตว์ศัตรูพืชที่สำคัญ
4.2.1 เพลี้ยไฟพริก (Scirothrips dorsalis Hoods)
ลักษณะอาการ เมื่อพริกถูกเพลี้ยไฟดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อนหรือใบอ่อน จะทำให้ใบอ่อนหรือยอดอ่อนหงิก และม้วนห่อขึ้นด้านบนทั้งสองข้าง เนื้อในเป็นคลื่น ยิ่งนานวันขึ้นจะปรากฏชัดเป็นรอยด้านสีน้ำตาลหรือเป็นทางคล้ายขี้กลาก ถ้าเกิดในระยะพริกกำลังออกดอกจะทำให้ดอกร่วง ถ้าระบาดในช่วงพริกติดผลจะทำให้รูปทรงผลบิดงอ หากเป็นช่วงที่มีอากาศแห้งแล้งอาจจะทำความเสียหายมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
ช่วงเวลาระบาด ระบาดมากในฤดูแล้ง หรือเมื่อฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน เพลี้ยไฟเจริญเติบโตได้ดีในเวลาที่มีแดดจัดอุณหภูมิสูงและความชื้นน้อย ถ้ามีกระแสลมแรง จะช่วยทำให้เพลี้ยไฟปลิวไปตกและระบาดในพื้นที่ที่อยู่ไกลๆ ได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเพลี้ยไฟจึงระบาดได้มากในช่วงที่มีอากาศร้อน แห้งแล้งและฝนไม่ตก ถ้ามีฝนตกมาก ๆ ก็จะเป็นอุปสรรคของการแพร่กระจาย จึงเป็นการจำกัดหรือควบคุมการแพร่ระบาดของเพลี้ยไฟได้เป็นอย่างดี
การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจดูเพลี้ยไฟ โดยพลิกดูใต้ใบหรือส่วนอ่อนๆ ของพริก เช่น ยอดหรือตาดอก และใบอ่อน เมื่อเริ่มพบเพลี้ยไฟตั้งแต่ 10 ตัวขึ้นไปต่อส่วนของพืชนั้นก็ให้หาทางกำจัดเสียแต่เนิ่นๆ ในขั้นต้นควรเพิ่มความชื้นโดยการให้น้ำอย่าปล่อยให้พริกขาดน้ำเพราะจะทำให้พริกอ่อนแอยิ่งขึ้น หากเพลี้ยไฟระบาดควรพิจารณาเลือกใช้สารเคมีด้วยความรอบคอบ สารเคมีที่ใช้สำหรับป้องกันและกำจัดเพลี้ยไฟ ได้แก่ คาร์บาริล, เมทิโอคาร์บ, คาร์โบซัลแฟน, อิมิดาโคลพิด และ พิโปรนิล โดยใช้ตามฉลากอย่างเคร่งครัด
4.2.2 เพลี้ยอ่อน (Aphid gossypi)
ลักษณะอาการ เพลี้ยอ่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนอ่อนๆ ของพริก คือยอดอ่อน ใบอ่อน ทำให้ต้นแคระแกร็น โดยเฉพาะในระยะเล็ก ทำให้ใบเป็นคลื่นบิดตรงส่วนยอดผิดจากเพลี้ยไฟและไรขาว ผิวใบเป็นมันคล้ายถูกชโลมด้วยน้ำมันและสะท้อนแสง ใบส่วนยอดจะเรียวเล็ก หงิก ใบแก่จะมีขนาดพื้นที่ใบเกือบเท่าปกติแต่เนื้อใบเป็นคลื่นและม้วนงอเห็นได้ชัดเจนเมื่อพลิกใบดูจะเห็นตัวเพลี้ยอ่อนได้ง่ายเพลี้ยอ่อนนอกจากดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนอ่อน ๆ ของพริกแล้ว ยังเป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัสมาให้ต้นพริกด้วย การทำลายพริกไม่ว่าจะเป็นเพลี้ยอ่อนทำลายอย่างเดียวหรือไวรัสเข้าทำลายร่วมด้วยก็ตาม ถ้าระบาดมากจะทำให้พริกชะงักการเจริญเติบโตและแคระแกร็นได้
ช่วงเวลาระบาด ระบาดทั่วไปโดยเฉพาะแหล่งปลูกพริกที่อยู่ใกล้กับฝ้ายและพืชไร่อื่นๆ ที่เป็นพืชอาศัย มักจะพบระบาดได้ทั่วไปในสวนพริกที่มีอุณหภูมิสูง ไม่มีฝนตกหนัก และในท้องถิ่นที่มีการปลูกพริกใกล้เคียง หรือปลูกพริกสลับกับพืชอาหารของเพลี้ยอ่อนชนิดอื่น เช่น ถั่ว ฝ้าย และผักอื่นๆ การระบาดมักเกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ ก่อน ถ้ามีปริมาณเพลี้ยอ่อนระบาดมาก จะสังเกตเห็นมดเดินไปมาและจะพบน้ำเหนียวๆ ตามใบพริก และบริเวณยอดหรือใบอ่อน บางครั้งก็มีราดำอยู่ด้วย ราดำนี้เป็นผลเนื่องมาจากน้ำหวานเหนียวๆ ที่เพลี้ยอ่อนขับถ่ายออกมาและเป็นอาหารอย่างดีของเชื้อราที่ปลิวอยู่ในบรรยากาศ
การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจดูตามใต้ใบหรือยอดพริกตั้งแต่เริ่มตั้งตัวได้ ถ้าพบตัวอ่อนหรือตัวแก่เพียงเล็กน้อยก็ควรพ่นสารเคมีกำจัดทันที หากมีเพลี้ยอ่อนระบาดอยู่ในบริเวณใกล้เคียงควรช่วยกันกำจัดหรือพ่นสารฆ่าแมลงป้องกันทุก 10 วัน จนกว่าพริกจะโตเต็มที่ เพื่อให้พริกแข็งแรงและทนต่อโรคได้ดีในภายหลัง สำหรับสารเคมีที่ใช้กำจัดเพลี้ยอ่อนได้ผล ได้แก่ โตกุไธออน ฟิริมอร์ หรือฟอสดริลอย่างใดอย่างหนึ่ง
4.2.3 ไรขาวพริก (Polyphagotarsonemus latus Banks.)
ลักษณะอาการ เมื่อไรขาวดูดกินน้ำเลี้ยงในส่วนอ่อนๆ ของพริกนั้น อาการในระยะแรก ถ้าไม่สังเกตให้ดีอาจจะยังไม่ทราบได้ นอกจากจะใช้มือจับที่ผิวใบจะรู้สึกไม่เรียบเหมือนเนื้อใบปกติ ถ้าไรขาวทำลายนานแล้วใบอ่อนที่ยอดจะหงิก เล็กเรียวแหลม ก้านใบยาวเปราะหักง่าย ขอบใบจะม้วนงอลงด้านล่าง ทำให้ใบเรียวยาวมากขึ้นอาการรุนแรงจนใบยอดสั้นเล็กดูเป็นฝอย ในที่สุดใบอ่อนและดอกจะร่วง แตกยอดใหม่ หากมีการระบาดเป็นประจำทำให้ต้นพริกแคระแกร็น ชะงักการออกดอกติดผล อาการเช่นนี้มักพบกับต้นใดต้นหนึ่งหรือ 2 ต้นในบริเวณเดียวกัน
ช่วงเวลาระบาด พบระบาดอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในแหล่งที่มีการปลูกพริกอยู่เสมอๆ จึงมักพบไรขาวระบาดทำลายเป็นประจำกับพริกที่ปลูกตามสวนหลังบ้าน ส่วนพริกในไร่มักระบาดในช่วงที่มีความชื้นหรือมีฝนตกพรำ ๆ ติดต่อกันอย่างน้อย 7 – 10 วัน หรือในแปลงพริกที่ปลูกในต้นฤดูฝน อาจพบไรขาวเข้าทำลายตันพริกต้นใดตันหนึ่งหรือทั้งกลุ่ม หรือพริกบริเวณใดบริเวณหนึ่งที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาหรือดูแลรักษาไม่ทั่วถึงแล้วแพร่ระบาดมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไรขาวมีวงจรชีวิตสั้น ทำให้ระบาดได้รวดเร็ว
การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจดูไรขาวตามใบและยอดอ่อนโดยใช้แว่นขยาย จะทำให้สังเกตเห็นได้ง่ายขึ้น หากพบไรขาวระบาดและยังไม่มากควรหาทางป้องกันไม่ให้ลุกลามต่อไปโดยใช้กำมะถันผงละลายน้ำในอัตรา 50 – 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วโดยเฉพาะด้านใต้ใบ ควรพ่น 2 – 3 วัน ติดต่อกันในช่วงระยะที่ฝนตกเสมอ จนกว่าอากาศจะกลับเป็นปกติ แล้วจึงพ่นเพื่อป้องกันประมาณ 5 วันต่อครั้ง หากตรวจพบว่าไรขาวมีปริมาณมากแล้วใช้สารเคมีได้แก่ กำมะถันผง ฟอสซาโลน อามีทราช และไดโคฟอล ตามคำแนะนำบนฉลาก
4.2.5 หนอนเจาะสมอฝ้าย (Helicoverpa armigera)
ลักษณะอาการ หนอนชนิดนี้มีนิสัยชอบเจาะ จึงมักเจาะเข้าไปกัดกินไส้ในฝักพริก ทำความเสียหายให้รุนแรงกว่าหนอนกระทู้ผัก เมื่อเจาะกัดฝักใดแล้วก็ย้ายไปฝักอื่นต่อไป จึงทำให้เกิดความเสียหายมาก
ช่วงเวลาระบาด หนอนชนิดนี้ระบาดอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในแหล่งที่มีการปลูกฝ้าย ข้าวโพด การระบาดเกิดได้ตลอดปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพความสมบูรณ์ของพืช อาหาร และสภาพดินฟ้าอากาศ
การป้องกันกำจัด
1. ใช้เชื้อจุลินทรีย์ไวรัส NPV ของหนอนเจาะสมอฝ้าย อัตรา 30 มิลลิลิตรน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5 วัน เมื่อพบแมลงระบาดในช่วงเวลาเย็นโดยผสมกับสารจับใบ เป็นวิธีที่พบว่าให้ผลดีในการป้องกันกำจัด
2. ลักษณะของพริกเป็นพืชที่มีลักษณะเป็นพุ่มทึบ ยากแก่การสังเกตพบหนอนโดยตรง ต่อเมื่อมีการทำลายเกิดขึ้น หรือหนอนโตพอมองเห็นได้ชัด ซึ่งในระยะนี้ถ้าไม่กำจัดก็จะทำความเสียหายในระยะพริกออกผล สำหรับพริกฤดูฝน ควรหมั่นไปตรวจดู หากพบร่องรอยให้รีบกำจัดทันที การเลือกสาวป้องกันกำจัดแมลง เช่นแลนด้าไซฮาโลทริล เดลต้าเมทริน ไบเฟนทริน โดยใช้ตามอัตราดำแนะนำบนฉลาก
4.2.6 แมลงวันพริก (Bactrocera latifrons)
ลักษณะอาการ ตัวเต็มวัยจะวางไข่โดยเจาะผ่านผิวพริก เมื่อฟักเป็นตัวหนอนจะกัดกินภายในผลพริก ระยะเริ่มแรกของการทำลายจะเห็นรอยเป็นทางภายในผลพริก ไส้พริกจะเป็นสีดำ บางครั้งเรียกอาการไส้ดำ ต่อมาจะเน่า
ช่วงเวลาระบาด พบระบาดในฤดูฝน
การป้องกันกำจัด
1.การทำความสะอาดแปลงปลูก ไม่ควรให้พริกมีทรงพุ่มหนาแน่นเกินไป ให้มีแสงแดดส่องถึงโคนตันประมาณ 20 – 30% ทำลายผลเน่าเสียโดยฝังหรือเผา ให้ห่างไกลจากแปลงปลูก
2.การใช้สารล่อแมลงวันตัวผู้ แขวนในแปลงพริกหรือรอบๆ แปลง
3.การพ่นด้วยเหยื่อพิษ เป็นสารพวก Yeast Protein Hydrolyses หรือ Yeast Autolysate โดยผสมสารป้องกันกำจัดแมลงพ่นเป็นใบจุดบนใบพืชทุก 4 – 7 วัน ในตอนเช้า
ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร