ประโยชน์ของเฮมพ์

1. เปลือกลำต้น (fibre) – ทำเป็นเส้นใย ซึ่งจัดเป็นเส้นใยยาว ที่มีความเหนียว ยืดหยุ่น น้ำหนักเบา ไม่เกิดเชื้อราแบคทีเรียได้ง่าย และระบายความชื้นได้ดี สามารถนำมาทำเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เชือก วัสดุเสริมแรงในพลาสติกชีวภาพ

2. แกนลำต้น (shivs) – มีน้ำหนักเบา นิยมนำมาทำเป็นวัสดุรองคอกม้าแข่ง ผสมเป็นวัสดุก่อสร้าง ซึ่ง สวพส. ได้วิจัยและพัฒนาสูตรการผลิตคอนกรีตผสมแกนเฮมพ์ (Hempcrete) และวัสดุทดแทนไม้จากแกนเฮมพ์ ซึ่งเปลือกและแกนเฮมพ์จัดเป็นวัสดุโครงสร้างมวลเบา (lightweight Structure) แต่มีความแข็งแรงทนทาน มีคุณสมบัติเป็นฉนวนในการดูดซับเสียงและแรง สวพส.ได้ศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในการงานก่อสร้าง พร้อมทั้งสร้างบ้านเฮมพ์ (Hemp house) ไว้ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่

3. ใบ (leaves) – เป็นส่วนที่มีสารเสพติด THC แต่ใบที่มีจะมี THC สูงจะเป็นใบยอด หากเป็นใบที่เริ่มเหลืองก็จะมีปริมาณ THC ลดน้อยลง มีการศึกษาวิจัยนำใบเฮมพ์มาสกัดซึ่งจัดว่าเป็นหัวน้ำหอมชั้นดี (ISMED, 2555) ในต่างประเทศมีการนำใบมาทำเป็นชาชงดื่ม

4. ดอก (flower) – นำมาสกัดให้ได้สารสำคัญ Cannabidiol (CBD) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านสาร THC (THC antagonist) มีฤทธิ์ลดอาการชัก ต้านการอักเสบ และลดอาการคลื่นไส้

5. เมล็ด (seed) – มีโปรตีน 20-30% ไขมันประมาณ 20-25% และประมาณ 80% ของไขมันมี Essential Fatty Acid หรือ โอเมก้า6:โอเมก้า3 สัดส่วน 3:1 ซึ่งเหมาะสมกับร่างกายมนุษย์ ซึ่ง สวพส. ได้ศึกษาวิจัยเมล็ดเฮมพ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์ไว้แล้ว รวมทั้งได้พัฒนาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพในรูปแบบของ น้ำมันจากเมล็ดเฮมพ์ในแคปซูล และโปรตีนจากเมล็ดเฮมพ์อัดเม็ด

ที่มา : สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)

Recent Posts