การปลูกกัญชงในประเทศไทย

การปลูกกัญชงในประเทศไทย – จากการศึกษาเกี่ยวกับการปลูกกัญชงนั้น พบว่า กัญชงสามารถปลูกได้ดีในดินทุกชนิดและยังพบว่าช่วงอุณหภูมิระหว่าง 14-27 องศาเซลเซียสเป็นช่วงที่เหมาะสมในการปลูกกัญชง โดยทั่วไปจะเริ่มปลูกครั้งแรกในช่วงต้นเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนพฤษภาคมและช่วงที่ 2 คือระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่และสภาพปริมาณน้ำฝนในแต่ละภูมิภาค ส่วนวงจรช่วงระยะตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวนั้นใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 34 เดือน และในบางพื้นที่หากมีการชลประทานดี อุณหภูมิไม่หนาวจัดหรือร้อนจัด อาจสามารถปลูกครั้งที่ 3 ได้ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม อีกประการหนึ่งคือ กัญชงยังเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดมาก หากปลูกในฤดูหนาวหรือช่วงกลางวันสั้นจะทำให้ต้นกัญชงเจริญเติบโตได้ไม่ดีและออกคอกติดผลไวกว่าปกติ ดังนั้นในช่วงนี้จึงเหมาะสำหรับการปลูกเพื่อเร่งเก็บเมล็ดทำพันธุ์ สำหรับบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือของประเทศไทยนั้น กลุ่มชาวไทยภูเขาหลายเผ่า เช่น ม้ง ปลูกกัญชงเพื่อผลิตเป็นเส้นใย สำหรับทอเป็นเสื้อผ้า เรียกว่า ผ้าใยกัญชง ซึ่งเคยเห็นมีวางจำหน่ายในหมู่บ้านของชาวเขาและในตลาดก็จะพอเห็นบ้างแต่ไม่มากนัก

สมาคมสร้างสรรค์และพัฒนาม้งในประเทศไทย (สมท.) มีข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกกัญชงบนที่สูงในประเทศไทย กล่าวคือ ชาวเขาเผ่าม้ง ลีซอ และอาข่าในอดีตเป็นกลุ่มชาวเขาที่มีการปลูกฝิ่นและข้าวโพดโดยประเพณี นอกเหนือจากการปลูกข้าวเพื่อบริโภค ชาวเขากลุ่มนี้มีความคุ้นเคยกับการปลูกและการใช้ประโยชน์จากต้นกัญชงมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ได้มีการใช้เส้นใยของพืชชนิดนี้นำมาทอเป็นผ้า ใช้ตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ทำเป็นถุงย่ามสำหรับบรรจุเมล็ดพันธุ์ข้าว ทำเป็นถุงย่ามใช้แบบอเนกประสงค์ และยังนำมาถักเป็นแผ่นบางแบนๆ ใช้เป็นสายสะพายไหล่หรือห้อยยึดติดกับตะกร้าหรือภาชนะแบบอื่นที่ใช้บรรจุสิ่งของที่จำเป็น เช่น กระบอกไม้ไผ่ใส่น้ำบริโภคและใช้สอยจากแหล่งน้ำ น้ำเต้าบรรจุน้ำ เมล็ดข้าวเปลือก เมล็ดข้าวโพดผักและผลผลิตอื่นๆ ฟั่นเป็นเชือกทำสายหน้าไม้ ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่ากัญชงเป็นพืชสำคัญพืชหนึ่งในการดำรงชีวิตแบบชุมชนจารีตประเพณีดั้งเดิมของชาวเขาบางเผ่ามาแต่อดีตกาล

ที่มา : สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

Recent Posts