กัญชง (Hemp) ความเป็นมาและการใช้ประโยชน์

พระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 27 มกราคม 2546 พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยแม่เกี๋ยง ต. เมืองนะ อ. เชียงดาว จ. เชียงใหม่ พ.ศ. 2547

“…โดยเฉพาะกัญชง ให้พิจารณาข้อดี และตัดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ออกไป ก็จะส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจได้ เพราะให้เส้นใยที่มีคุณภาพ…”
“…สมควรศึกษาและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวเขาปลูกกัญชง เพื่อใช้เส้นใยผลิตเครื่องนุ่งห่มและจำหน่ายเป็นรายได้…”

กัญชง (Hemp) ความเป็นมาและการใช้ประโยชน์ – เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสนพระทัยผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์หรือกัญชง (Cannabis sativa) และได้มีพระราชเสาวนีย์ให้มีการศึกษาการเพาะปลูกเฮมพ์อย่างจริงจังในประเทศไทยเพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้จากการผลิตหัตถกรรมต่อเนื่อง และเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ฯ มูลนิธิโครงการหลวงและ สวพส. ได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูกและแปรรูปผลิตภัณฑ์เฮมพ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา-ปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายหลัก “เกษตรกรบนพื้นที่สูงสามารถปลูก แปรรูป และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย” เพราะเฮมพ์ยังจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ณ วันนั้น ตามกฎหมายแล้ว เสื้อผ้า กระเป๋า ที่เป็นใยกัญชงก็จัดเป็นยาเสพติด ผิดกฎหมายไปหมด

งานในช่วงแรก (พ.ศ. 2548-2560) ได้ขออนุญาตศึกษาวิจัย ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 (ให้อนุญาตเฉพาะเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น) ระหว่างทำงานได้รายงานผลต่อผู้ให้อนุญาต (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา; อย.) อย่างสม่ำเสมอ และได้นำผลการศึกษาวิจัยไปใช้เป็นข้อมูลในการผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย ต่อมา ปี พ.ศ. 2556 กระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศยกเว้นส่วนของ เปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้งและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง ออกจากการเป็นยาเสพติด แต่กฎหมายระบุไว้ชัดที่ให้อนุญาตปลูกเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น จึงยังคงเป็นปัญหาว่าจะได้เปลือกแห้ง แกนแห้งมาได้อย่างไร ชาวบ้านก็ขอทำวิจัยไม่ได้

“กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะเฮมพ์ พ.ศ. 2559” เป็นกฎกระทรวงสาธารณสุขที่มีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2561 และระยะ 3 ปีแรก (พ.ศ. 2561-2563) ให้เฉพาะหน่วยงานรัฐเป็นผู้ขออนุญาต กำหนดปริมาณสารเสพติด THC (tetrahydrocannabinol) ไว้ไม่เกิน 1.0 % ต้องขออนุญาตตามวัตถุประสงค์ 6 ข้อนี้เท่านั้น

  1. เพื่อปลูก เก็บเกี่ยว หรือแปรสภาพเฮมพ์ สําหรับใช้ประโยชน์ในครัวเรือน
  2. เพื่อปลูก เก็บเกี่ยว หรือแปรสภาพเฮมพ์ สําหรับใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมในเชิงพาณิชย์
  3. เพื่อปลูก เก็บเกี่ยว หรือแปรสภาพเฮมพ์ สําหรับการศึกษาวิจัย
  4. เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์รับรองสําหรับจําหน่าย หรือแจกสําหรับการส่งเสริมตามวัตถุประสงค์ (1) (2) หรือ (3)
  5. เพื่อจําหน่ายเมล็ดพันธุ์รับรอง ลําต้นสด หรือส่วนอื่น ๆ ตามที่ได้รับอนุญาต สําหรับใช้ประโยชน์ตาม (1) (2) (3) หรือประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด แล้วแต่กรณี
  6. เพื่อครอบครองสําหรับใช้ประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด การดําเนินการตามวัตถุประสงค์ใน (1) และ (2) ห้ามมิให้มีการผลิตเมล็ดพันธุ์สําหรับการเพาะปลูก

ที่มา : สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)

Recent Posts