การปลูกและการดูแลรักษา

การเพาะปลูก – ขมิ้นชอบอากาศค่อนข้างร้อนและมีความชุ่มชื้นในเวลากลางคืน ชอบดินร่วนซุยที่ระบายน้ำได้ดี ก่อนปลูกควรดายหญ้าเพื่อกำจัดวัชพืช ไถพรวนลึก 20-30 ซม. 2 ครั้ง ตากดินเพื่อทำลายแมลงและราบางชนิดอีก 1 สัปดาห์ ยกร่องสูง 25 ซม. กว้าง 80 ซม. ระยะปลูกระหว่างแถว 40 ซม. และระหว่างหลุม 30 ซม. ปลูก 2 แถวต่อร่อง ถ้าเป็นที่ลาดเอียงอาจจะไม่ต้องยกร่อง โดยฝังท่อนพันธุ์ลึกประมาณ 10 ซม. ใช้ท่อนพันธุ์ที่เป็นแง่งนิ้วมีลักษณะเรียวยาว มีตาติดอยู่ประมาณ 3 ตา จะปลูกในแปลงทันทีหรือเพาะชำก่อนก็ได้ โดยทั่วไปจะปลูกในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ประมาณ 10-15 วันจะเริ่มงอก หากฝนไม่ตกควรรดน้ำทุกวันขมิ้นจะเจริญได้ดีเมื่อฝนชุกในระยะเริ่มกำเนิดหัวและพัฒนาของหัว แต่ต้องการน้ำฝนน้อยลงในระยะหัวเริ่มแก่จนไม่มีฝนเลยในระยะเก็บเกี่ยว

การเจริญเติบโตทางลำต้น – ขมิ้นที่ปลูกจะเริ่มแทงยอดอ่อนขึ้นมาภายใน 15 วันหลังปลูกแต่อาจจะช้าไปถึง 25 วัน ซึ่งยอดอ่อนนี้เป็นใบแรก จากนั้นประมาณ 10 วัน จะเกิดใบที่ 2 ขึ้นมา อัตราการเกิดใบใหม่ต่อๆ ไปอยู่ระหว่าง 10-20 วันต่อใบ โดยระยะ 3 เดือนแรกจะแตกใบใหม่ได้เร็ว หลังจากนั้นการแตกใบใหม่จะช้าลงแต่จะไปเจริญทางด้านหัว เมื่ออายุได้ 5 เดือน ขมิ้นทุกพันธุ์เริ่มแตกใบสุดท้ายตรงกลางลำต้น และแทงช่อดอกในบางต้น จนถึงเดือนที่ 6 ใบล่างเริ่มเหลืองและแห้งไป

การเจริญเติบโตทางลำต้นใต้ดินหรือหัว – ท่อนพันธุ์ที่มีตาท่อนละประมาณ 3 ตา เมื่อแทงต้นอ่อนจากต้นพันธุ์ก็จะเริ่มสร้างรากใหม่เป็นกระจุกตรงโคนต้นอ่อน แล้วโคนของต้นอ่อนจะขยายใหญ่ขึ้นเป็นกระเปาะกลมๆ สีขาว เมื่อต้นเจริญเติบโตกระเปาะนี้ก็จะขยายตัวมีลักษณะเป็นวงๆ หรือข้อ ซึ่งกระเปาะนี้ต่อไปเรียก เหง้า (mother rhizome)ซึ่งจะเป็นที่แตกของราก (fibrous root) ระยะเวลาในการพัฒนาเหง้านี้ใช้เวลา 3 เดือน ในช่วงปลายเดือนที่ 3-4 เหง้าจะแตกแง่งแทงออกไปด้านข้าง 3-4 แง่ง หรือมากกว่า แง่งที่แตกออกไปนี้ถ้ามีลักษณะกลมเรียกว่าหัว (corm) ถ้ามีลักษณะยาวเรียวเรียก แง่งนิ้ว (finger rhizome) ซึ่งพวกหัวหรือแง่งนิ้วเหล่านี้จะแตกเป็นหัวและแง่งย่อยอีก และพัฒนาไปอย่างช้าๆ จนถึงสิ้นสุดการเจริญเติบโตทางลำต้น คือการแตกใบสุดท้าย ประมาณเดือนกันยายน – ตุลาคม ขณะเดียวกันลำต้นใต้ดินพวกแง่งต่างๆ จะขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะช้าลงเมื่อหมดฝน สีจะค่อยๆ เข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาลอมส้มเป็นมัน จากโคนต้นไปหาปลายแง่งนิ้ว เมื่อใบของต้นขมิ้นแห้งหมดก็สามารถเก็บผลผลิตได้ ซึ่งเริ่มจากเดือนที่ 8 ประมาณเดือนธันวามคม หรือจะปล่อยให้หัวแก่จัดขึ้น โดยเก็บไว้ในดินอีก 1-2 เดือน

การกำจัดวัชพืช – กำจัดวัชพืชและไถพรวนก่อนการปลูก และดายหญ้าทุกเดือน

การใส่ปุ๋ย – ใช้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิต ปุ๋ยสูตร 8-0-12 ผสมกับปุ๋ยอินทรีย์อัตราไร่ละ 1-7 ตัน แล้วแต่สภาพของดิน จะทำให้ขมิ้นชันให้ผลผลิตสูงและเหมาะสมกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว

ที่มา : กรมวิชาการเกษตร

Recent Posts