ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้น – เป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นใต้ดินประเภทไรโซม ลักษณะเป็นเหง้าแง่ง มีเหง้าแม่ลักษณะค่อนข้างกลม หรือกลมรี เส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 ซม. แง่งนิ้วแตกออก 2 ข้างตรงข้ามกันข้างละ 3-4 แง่งจะขนานกับพื้นแล้วแตกแง่งย่อยที่มีขนาดใกล้เคียงกันซ้อนกันลงด้านข้าง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.0-1.5 ซม. ยาว 5-11 ซม. เป็นข้อปล้องสั้นๆ เห็นข้อชัดเจน เหง้าแง่งอ่อนผิวสีเหลืองอ่อนออกขาว เมื่อแก่สีน้ำตาลอมส้มเลื่อมมัน เนื้อในมีสีเหลืองอมส้ม สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ข้ามปีหรือหลายปี ลำต้นเหนือดินกลมแบนตั้งตรงประกอบด้วยกาบใบใหญ่หนาเรียงสลับซ้อนทับกันขึ้นสูง 30-50 ซม. และมีการแตกต้นใหม่หลายต้นจนมีลักษณะเป็นกอสูง 50-150 ซม. เจริญเติบโตได้ดีในฤดูฝนและโทรมแห้งตายในฤดูหนาว

ใบ – เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่อยู่ที่ปลายกาบ โคนใบสอบเรียวประมาณ 1/4 -1/5 ของความยาวใบแล้วขยายใหญ่เป็นรูปไข่ หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ สีเขียว กว้าง 15 – 20 ซม. ยาว 40 – 80 ซม. เส้นกลางใบใหญ่ หน้าใบเป็นร่องตื้น หลังใบเป็นสันแข็งหนา 0.5 ซม. มีใบ 8-10 ใบ/ต้น เมื่อขยี้ใบดมจะมีกลิ่นหอมฉุนเฉพาะตัวคล้ายกลิ่นมะตูมอ่อน

ดอก – จะออกเป็นช่อใหญ่แบบช่อเชิงลดตั้งตรงพุ่งขึ้นมาจากกลางลำต้น ก้านช่อยาว 5-8 ซม. ช่อดอกประกอบด้วยใบประดับสีขาว ที่ปลายช่อดอกจะมีสีเขียวอ่อนๆ รูปขอบขนาดยาว 3-3.5 ซม. จัดเรียงซ้อนกันอย่างมีระเบียบ ที่โคนใบประดับบริเวณกลางช่อ 1 ใบจะหุ้มดอกอยู่ 2 ดอก ส่วนใบประดับที่โคนและปลายช่อจะไม่มีดอก ดอกมีกลีบรองดอกเชื่อมติดกันเป็นท่อ มีขน กลีบดอกจะมีสีขาว ตรงโคนเชื่อมติดกันเป็นท่อยาว ส่วนปลายกลีบจะแยกเป็น 3 แฉก เกสรตัวผู้จะมีลักษณะคล้ายกลีบดอก มีขน ส่วนอับเรณูจะอยู่ใกล้ๆ ปลายท่อเกสรตัวเมียเล็กยาว ปลายยอดเปิดเป็นปากแตรเกลี้ยง

ราก – รากส่วนใหญ่จะหนาแน่นอยู่บริเวณโคนต้น ส่วนที่แง่งมีน้อย ความยาวราก 20-25 ซม. มีทั้งรากหาอาหารลักษณะคล้ายเส้นด้ายมีรากขนอ่อนอยู่มาก รากสะสมอาหารมีขนาดใหญ่ผิวค่อนข้างเกลี้ยงรากขนอ่อนมีน้อย บางรากที่ส่วนปลายจะขยายใหญ่มีหัวสะสมอาหารลักาณะกลมรีปลายแหลมอยู่ที่ปลายราก

ที่มา : กรมวิชาการเกษตร

Recent Posts