การปลูกและการดูแลรักษา
การปลูก – โดยทั่วไปการปลูกกวาวเครือขาวจะใช้ต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ดในถุงดำ โดยเพาะเมล็ด 1 เมล็ดต่อ 1 ถุง หลังจากต้นกล้าอายุ 2 เดือน จึงนำไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ โดยจะปลูกในที่โล่งแจ้งหรือในที่มีร่มเงาก็ได้ การปลูกในแปลงควรปรับดินโดยใช้ปุ๋ยคอก 1-3 ตันต่อไร่ ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ปลูกแบบยกร่องหรือพื้นที่ราบขึ้นอยู่กับแหล่งปลูกว่าอยู่ในที่ลุ่มหรือที่ดอน ดินที่ปลูกควรเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี pH ประมาณ 5.23-6.46 ปลูกระยะห่างระหว่างต้นแถวเท่ากับ 2×2 เมตร ขุดหลุมลึกประมาณ 20×20 ซม. ปลูก 1 ต้นต่อ 1 หลุม รดน้ำตามความจำเป็น การปลูกจะใช้ค้างหรือไม่ใช้ก็ได้ ถ้าไม่ใช้ค้างก็จะประหยัดเรื่องการปราบวัชพืช เพราะกวาวเครือจะเจริญคลุมแปลงปลูกหมด แต่ถ้าใช้ค้างกวาวเครือจะเจริญเติบโตในค้างของแต่ละต้น การปฏิบัติต่างๆ ในแปลงปลูก เช่น ใส่ปุ๋ย พรวนดิน จะทำได้ง่ายกว่าไม่ใช้ค้าง
การให้น้ำ – กวาวเครือต้องการน้ำในระยะแรก ตั้งแต่เพาะกล้าจนถึงย้ายกล้าลงในแปลงปลูก เมื่อต้นกล้าตั้งตัวได้แล้วสามารถงดการให้น้ำได้ แต่ฤดูแล้งควรให้น้ำอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง เพื่อการสร้างอาหาร สร้างหัว และการเจริญเติบโต คลอดจนการระบายความร้อนในแปลงปลูก การให้น้ำอย่างเพียงพอในระยะออกดอกและติดฝัก จะทำให้การติดฝักและการติดเมล็ดสูงขึ้น กวาวเครือสามารถเจริญเติบโตได้ในอุณหภูมิเฉลี่ยตั้งแต่ 27-37 องศาเซลเซียส
แสง – การปลูกกวาวเครือขาวเพื่อใช้ประโยชน์จากหัวใต้ดินและการปลูกเพื่อเก็บเมล็ดสำหรับนำไปขยายพันธุ์นั้น สามารถทำควบคู่กันได้ กวาวเครือขาวสามารถออกดอกติดฝักได้ตั้งแต่อายุ 7-8 เดือน สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ ช่วงแสงและความเข้มของแสงมีส่วนสำคัญในการออกดอกและติดฝัก กวาวเครือขาวจะออกดอกในช่วงกลางวันสั้นคือ ได้รับแสง 8 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน และต้นกวาวเครือขาวที่เลื้อยพันต้นไม้ใหญ่ที่มีความสูงมากกว่าต้นไม้อื่นจะออกดอกเร็วกว่า ส่วนกวาวเครือขาวที่ไม่ออกดอก พบว่าเครือเถาจะเลื้อยพันไปกับต้นไม้ที่มีความสูงน้อยกว่าซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแข่งขันเพื่อรับแสงและความเข้มของแสงที่ได้รับ
การให้ปุ๋ย – โดยทั่วไปการให้ปุ๋ยกวาวเครือขาวในแปลงปลูก นอกจากการปรับดินก่อนปลูกโดยใส่ปุ๋ยคอก 1-3 ตันต่อไร่แล้ว เมื่อกวาวเครือขาวเจริญเติบโตในช่วงเวลา 6 เดือนหลังจากปลูก จะให้ปุ๋ยคอกอีก 1/2 กิโลกรัมต่อตัน โดยโรยรอบโคนต้นและพรวนดินกลบรดน้ำให้ชุ่ม ให้ปุ๋ยทุก 6 เดือนเป็นระยะเวลา 1 ปี หลังจากนั้นจึงให้ปุ๋ยคอกเพิ่มขึ้นเป็น 1 กิโลกรัมต่อตันอีก 1 ปี หรือจนกว่าจะเก็บเกี่ยว ไม่นิยมใส่ปุ๋ยเคมีในพืชป่าเพราะการตอบสนองมีน้อยกว่าและต้นทุนการผลิตจะสูงกว่าด้วย
ที่มา : กรมวิชาการเกษตร