การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์

1. การเพาะเมล็ด – เมล็ดกวาวเครือขาวจะเกิดจากการผสมเกสรข้ามดอกในต้นเดียวกันหรือข้ามต้นก็ได้ โดยปกติการปลูกกวาวเครือในแปลงใหญ่จะปล่อยให้มีการถ่ายละอองเกสรตามธรรมชาติ กวาวเครือจะทยอยออกดอกและบานใกล้เคียงกัน กล่าวคือในแต่ละช่อดอก ดอกจะบานจากโคนกิ่ง ฉะนั้น จึงทำให้การถ่ายละอองเกสรมีมาก การติดฝักตลอดจนการให้เมล็ดจะมีมากเช่นกัน เมล็ดกวาวเครือขาวจะเก็บเกี่ยวได้หลังจากผสมเกสรแล้ว 3 เดือน และเนื่องจากกวาวเครือขาวเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีขนาดของเมล็ดเล็กมาก เปลือกหุ้มเมล็ดแข็งและมีขนาดเล็กน้ำซึมผ่านยาก เมื่อนำไปเพาะโดยวิธีธรรมดาจึงให้เปอร์เซ็นต์ความงอกต่ำ ฉะนั้นก่อนเพาะเมล็ดกวาวเครือขาวทุกครั้งจึงต้องแช่น้ำค้างคืน (ประมาณ 15 ชั่วโมง) แล้วนำไปอบให้แห้งในตู้อบที่อุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที หรือผึ่งแดดให้แห้งประมาณ 12 ชั่วโมง ถึง 1 วัน แล้วนำมาแช่น้ำค้างคืนอีก หลังจากนั้นนำไปเพาะในถุงดำหรือแปลงเพาะที่ใส่ดินผสมขุยมะพร้าวหรือขี้เถ้าแกลบ ผสมทรายอัตราส่วน 1:1:1 รดน้ำให้ชุ่ม (ตามความจำเป็น) คลุมถุงพลาสติกเพื่อให้อุณหภูมิในถุงหรือแปลงเพาะสูงกว่าปกติเพื่อเร่งความงอก พบว่าวิธีนี้กวาวเครือขาวจะให้เปอร์เซ็นต์ความงอกสูงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเทียบกับพืชอื่นแล้วถือว่าเปอร์เซ็นต์ความงอกยังต่ำ จึงควรจะได้ทำการวิจัยต่อไป

2. การปักชำ – วิธีนี้ทำได้โดยปลูกกวาวเครือขาวแบบปล่อยเลื้อย เมื่อเถากวาวเครือเลื้อยไปตามดิน ส่วนข้อที่ติดดินจะเกิดราก ปล่อยทิ้งไว้จนรากสร้างหัวเล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของหัวประมาณ 1 ซม. ก็สามารถขุดและตัดกิ่งมาปักชำในถุงสีดำ ซึ่งมีดินผสมขุยมะพร้าว หรือขี้เถ้าแกลบ ผสมทราย อัตราส่วน 1:1:1 โดยวิธีนี้ต้นกวาวเครือสามารถออกเป็นต้นอ่อนได้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการนำเถาที่มีข้อติดและจุ่มเซราดิกซ์ นัมเบอร์ 2 (เพื่อช่วยเร่งราก) ก่อนปักชำ พบว่า เถากวาวเครือสามารถงอกมีรากและเจริญเติบโตได้ในช่วงสั้นๆ (2-3 เดือน) หลังจากนั้นเถากวาวเครือจะแห้งและตายในที่สุด (เถาที่แห้งจะมีลักษณะคล้ายเชือกกล้วย) ทั้งนี้เพราะกิ่งปักชำไม่สามารถสร้างหัวใต้ดินได้

3. การแบ่งหัวต่อต้น – โดยทั่วไปการขุดหัวกวาวเครือมาใช้ประโยชน์มักจะคัดเลือกเอาหัวใหญ่ไปใช้ ส่วนหัวเล็กจะปล่อยทิ้งและตายในที่สุด ทั้งนี้เพราะหัวกวาวเครือขนาดเล็ก ไม่มีตาที่จะแตกเป็นต้นใหม่เพื่อขยายพันธุ์ จึงจำเป็นต้องใช้ส่วนของตาที่มีอายุและขนาดพอเหมาะ (ไม่ใหญ่หรือเล็กและไม่แก่หรืออ่อนเกินไป) มาต่อเชื่อมกับหัวขนาดเล็กซึ่งมีอายุประมาณ 6 เดือน ตามวิธีการขยายพันธุ์แบบต่อรากเลี้ยงกิ่งโดยผ่าหัวกวาวเครือขาวออกเป็น 2 ส่วนตามแนวแกนกลางของราก บากร่องลิ่มตามแนวแกนกลางของเส้นราก เตรียมเถาหรือต้นกวาวเครือขาวที่มีอายุพอเหมาะ บากลิ่มที่เถาหรือต้นให้มีขนาดพอดีกับลิ่ม เสียบต้นเข้ากับหัวที่แบ่งไว้โดยให้ลิ่มแนบสนิทกับร่องลิ่มพันด้วยเทปพลาสติกใสโดยเฉพาะส่วนบนให้แน่น ปิดคลุมส่วนของลำต้นด้วยถุงพลาสติกใส นำไปชำไว้ในวัสดุชำ (ทรายและขี้เถ้าแกลบ) เมื่อกวาวเครือออกรากและแตกยอดจึงย้ายไปอนุบาลในสถานที่อนุบาลกวาวเครือขาว การอนุบาลต้นอ่อนในช่วงฤดูฝนควรอยู่ภายใต้หลังคาโปร่งใส เมื่อต้นอ่อนแข็งแรงจึงนำออกไว้กลางแดดระยะหนึ่ง (15-20 วัน) แล้วจึงนำไปปลูกหลังจากขยายพันธุ์ 45-60 วัน ก็สามารถนำลงปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ได้ เมื่อต้นแข็งแรงกวาวเครือขาวจะออกรากจากต้นที่เสียบไว้  วิธีนี้มีข้อดีคือสามารถต่อต้นข้ามสายพันธุ์ได้ แต่ผู้ที่จะขยายพันธุ์วิธีนี้ต้องมีความชำนาญพอจึงจพทำได้ วิธีนี้ต้นพันธุ์มีโอกาสรอดถึง 85 เปอร์เซ็นต์

4. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ – เป็นวิธีการเพิ่มปริมาณต้นกวาวเครือให้มากในเวลาอันสั้น และข้อสำคัญต้นกวาวเครือที่ได้จะเหมือนต้นเดิมทุกประการ มัผู้รายงานว่า การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกวาวเครือขาวโดยใช้ใบและตาข้างมาเลี้ยงบนอาหารพื้นฐานที่เติมสารควบคุมการเจริญเติบโต (MS+NAA 2.0 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับ BAP 1.0 มิลลิกรัมต่อลิตร) สามารถชักนำให้แคลลัสเจริฐเติบโตดีที่สุด และเนื้อเยื่อที่เลี้ยงบนอาหารสูตร WPM ที่มี IBA 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับ BAP 1.0 มิลลิกรัมต่อลิตร สามารถชักนำให้แคลลัสเกิดยอดได้ ข้อดีของขยายพันธุ์วิธีนี้คือ ได้ต้นตรงตามพันธุ์ ได้ต้นปริมาณในเวลาอันสั้น ข้อเสียคือ ต้นกล้าโตช้าในเวลาถึง 4 ปี จึงสามารถเก็บเกี่ยวหัวไปใช้ประโยชน์ได้ ในขณะที่ขยายพันธุ์โดยวิธีอื่นสามารถเก็บเกี่ยวหัวไปใช้ได้ในเวลา 2 ปี

ที่มา : กรมวิชาการเกษตร

Recent Posts