ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้น เป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นใต้ดินประเภทไรโซม (Rhizome) ลักษณะเป็นเหง้าแง่งกลมแบนเป็นข้อ ๆ คอดกิ่วและขยายใหญ่ต่อเนื่องกัน มีเยื่อและเกล็ดเล็กๆ หุ้มข้อปล้องที่แตกขนานไปกับพื้นดินปลายงอนขึ้น ลักษณะการแตกแง่งเป็นแขนงแบบนิ้วมือ แง่งอันแรกจะเจริญและแตกแง่งย่อย ๆ ต่อกันไป เหง้าแง่งเมื่อยังอ่อนมีสีของเหง้าแง่งและสีเนื้อภายในเปลี่ยนแปลงไปตามอายุที่มากขึ้น คือจากสีขาวหรือขาวอมเหลือง จนถึงสีเหลืองอ่อน แง่งที่แก่จัดจะมีสีน้ำตาลอ่อน มีข้อปล้องที่สั้นและขยายใหญ่ขึ้น เนื้อในสีเหลืองมีเส้นใยปานกลาง สามารถดำรงชีวิตข้ามฤดูหรือหลายฤดู ซึ่งต่างจากลำต้นเหนือดินหรือลำต้นเทียมที่มีอายุได้เพียงฤดูเดียวหรือประมาณ 8 เดือน เจริญตั้งตรงขึ้นมาจากตาที่ปรากฏอยู่บนแง่งของขิง ประกอบด้วยกาบใบยาวเรียงสลับซ้อนทับกันแน่น ที่ปลายกาบมีลิ้นใบประกบชิดลำต้นและเชื่อมต่อกับใบ มีความสูงถึงปลายใบ 40-100 ชม.

ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับเป็นแถวคล้ายขนนก โคนใบสอบแคบและจะเป็นกาบหุ้มลำต้นเทียม แผ่นใบรูปหอกเกลี้ยง สีเขียวเข้ม ยาวประมาณ 15-17 ซม. และกว้างประมาณ 1.8-3 ซม. หลังใบสีเขียวหม่นห่อจีบเป็นรูปรางน้ำ ปลายใบสอบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ

ดอก ดอกเกิดจากยอดที่ไม่มีใบหรือเกิดแยกกับลำต้น ออกเป็นช่อ มีก้านช่อยาวประมาณ 15 – 25 ซม. ส่วนของช่อดอกจะเป็นรูปกระบองโบราณยาวประมาณ 5-7 ชม. ลักษณะดอกเป็นช่อเชิงลดรูปกระบองโบราณมีเกล็ดหรือกลีบเลี้ยงสีเขียวเล็ก ๆ เรียงซ้อนสลับกันแน่น ดอกย่อยมีกลีบสีขาวเหลืองเปิดเป็นปากภายในมีกระสีแดงจะแซมออกมาตามเกล็ดนั้น ปกติขิงเป็นพืชที่ไม่ค่อยออกดอกหรือติดเมล็ด

ผล มีลักษณะกลม แข็ง โต มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ผลเป็นผลแห้งมี 3 พู ซึ่งโดยปกติมักไม่ค่อยพบผล

ลักษณะทางนิเวศวิทยา เป็นพืชที่เจริญได้ดีในร่มเงารำไร จนถึงกลางแจ้งที่มีความชื้นแลอุณหภูมิสูงพอควรแหล่งที่พบ พบทั่วไป เพราะเป็นพืชปลูกเลี้ยง หรือปลูกเป็นการค้า

แหล่งที่พบ พบทั่วไป เพราะเป็นพืชปลูกเลี้ยง หรือปลูกเป็นการค้า

ที่มา : กรมวิชาการเกษตร

Recent Posts