สรรพคุณ

สรรพคุณฟ้าทะลายโจร

1. ช่วยรักษาโรคหวัด
ตามตำรับยาแพทย์แผนไทยนั้น ได้ใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคไข้หวัดมาเป็นเวลานาน เพราะฟ้าทะลายโจร มีสารสำคัญทางพฤกษศาสตร์อยู่หลายชนิด เช่น สารไดเทอร์ปีนแลคโตน สารฟลาโวนอยด์ และสารประกอบอื่นๆ ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าฟ้าทะลายโจรสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้นด้วย

2. มีส่วนช่วยรักษาโรคไข้หวัดใหญ่
อย่างที่กล่าวไปว่าฟ้าทะลายโจร มีสรรพคุณช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ดังนั้นจึงเป็นไปได้ค่อนข้างสูงว่าจะมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน

3. รักษาโรคลำไส้อักเสบ
เนื่องจากฟ้าทะลายโจร มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการหลั่งสารที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบภายในร่างกาย ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และการแข็งตัวของเลือด นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคลำไส้อักเสบจากการทดลองในสัตว์อีกด้วย ดังนั้นจึงมักนำฟ้าทะลายโจรมาใช้ประโยชน์ในการบรรเทาและรักษาโรคลำไส้อักเสบ อีกทั้งยังมีฤทธิ์ช่วยเร่งให้ตับสร้างน้ำดี มาช่วยย่อยอาหารได้อีกด้วย

4. ลดอาการเจ็บคอจากต่อมทอนซิลอักเสบ
เนื่องจากอาการต่อมทอนซิลอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อในช่องคอ ซึ่งฟ้าทะลายโจร มีสรรพคุณช่วยระงับอาการอักเสบและช่วยต้านเชื้อ ดังนั้นฟ้าทะลายโจรจึงช่วยรักษาอาการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

5. รักษาโรคข้อรูมาตอยด์
โรคข้อรูมาตอยด์เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่มีการอักเสบตามข้อและส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ซึ่งฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ ที่สำคัญยังมีสารคือ แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographis paniculata) ซึ่งนิยมนำมาใช้ในการรักษาทางเลือกในโรคแพ้ภูมิตนเองด้วย

6. แก้อาการท้องเสีย ท้องเดิน และอาหารเป็นพิษ
ผู้ที่มีอาการท้องเสีย ท้องเดิน อาหารเป็นพิษ หรือเป็นบิดมีไข้ สามารถใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาได้ โดยนำฟ้าทะลายโจรไปผึ่งลมให้แห้ง จากนั้นหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาต้มกับน้ำประมาณ 1 กำมือแล้วดื่มตลอดวัน ฟ้าทะลายโจรจะเข้าไปขับสารพิษในลำไส้ออก ช่วยลดการระคายเคืองต่อผนังของลำไส้ ช่วยลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้เป็นปกติ

7. ช่วยรักษาไข้ไทฟอยด์หรือไข้ลากสาดน้อย
การรับประทานสมุนไพรฟ้าทะลายโจรแบบแคปซูล 2 เม็ด 3 เวลาก่อนอาหาร ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ จะช่วยทำลายเชื้อไทฟอยด์ที่ฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อของต่อมน้ำเหลือง หรือผนังลำไส้เล็กได้

8. รักษาโรคงูสวัด
ผู้ป่วยโรคงูสวัดอาจบรรเทาอาการได้โดยการรับประทานฟ้าทะลายโจรแคปซูลประมาณ 2 – 3 เม็ดก่อนอาหาร รับประทานวันละ 3 เวลา ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ จะช่วยบรรเทาอาการงูสวัดได้

9. รักษาแผลจากโรคเบาหวาน
ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ช่วยรักษาแผลอักเสบได้ เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้จะช่วยทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ซึ่งผู้ป่วยสามารถนำมาทาหรือรับประทานก็ได้ตามแต่สะดวก

10. ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคริดสีดวงทวารแนะนำให้รับประทานสมุนไพรฟ้าทะลายโจรครั้งละ 2-3 เม็ดก่อนอาหาร 3 เวลา รวมทั้งรับประทานก่อนเข้านอน จะช่วยให้อาการเลือดออกหรือปวดหน่วงค่อยๆ หายไป นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถขับถ่ายได้สะดวกขึ้นกว่าเดิมด้วย

11. การใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อสุขภาพ
สรรพคุณของฟ้าทลายโจรมีมากมาย แต่วิธีการใช้เพื่อบรรเทาหรือรักษาอาการก็แตกต่างกันไป มีทั้งการต้มเพื่อดื่มน้ำ หรือรับประทานเป็นแคปซูล รวมไปถึงการตำและพอก เราจะมาบอกขั้นตอนการใช้ฟ้าทะลายโจรโดยละเอียดให้ทราบกัน

12. รักษาอาการร้อนใน
อาการร้อนใน รักษาได้ด้วยการนำใบแก่ของฟ้าทะลายโจร ประมาณ 15 กรัม และใบเตยสด 15 กรัม ต้มกับน้ำสะอาดให้พอท่วมทิ้งไว้แค่พอเดือด แล้วกรองแต่น้ำ ดื่มก่อนอาหารทั้ง 3 มื้อของวัน (ถ้าต้องการให้หายขาด ควรดื่มแทนน้ำเปล่าต่อเนื่องกัน)

13. รักษาโรคท้องเสีย ท้องร่วง โรคบิด
ฟ้าทะลายโจร นำมาใช้รักษาอาการของโรคท้องเสีย ท้องร่วงได้ โดยให้นำกิ่งสด และใบสดของฟ้าทะลายโจรมาสับให้เป็นท่อนสั้น ๆ ประมาณ 1 เซนติเมตร 3 กำมือ นำไปต้มกับน้ำสะอาดเป็นเวลา 15 นาที แล้วดื่มก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง

14. รักษาอาการผมร่วง
นำใบฟ้าทะลายโจรสด 6-7 ใบไปแช่แล้วขยำในน้ำอุ่น หลังจากนั้นให้นำมาชโลมไว้ให้ทั่วศีรษะเป็นเวลา 5-10 นาที แล้วล้างออก หรือจะสระผมด้วยชมพูอีกครั้งก่อนล้างออกก็ได้ ใช้แก้อาการผมร่วง และกระตุ้นให้ผมงอกเร็วกว่าเดิม

15. นำมาใช้รักษาแผลสด และฝี
นำใบแก่ของฟ้าทะลายโจรประมาณ 1 กำมือ ตำให้ละเอียดแล้วใส่เกลือลงไปเล็กน้อย เติมเหล้าขาวลงไป 1/2 ถ้วยยา และน้ำ 1/2 ช้อนชา คนให้เข้ากันแล้วกรองแยกกากออกมาพอกบนแผลและฝี ใช้ผ้าสะอาดพันทิ้งไว้ 1 คืนแล้วเปลี่ยนกากไปเรื่อย ๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น

16. นำมาใช้รักษาโรคหวัด คัดจมูก
นำใบฟ้าทะลายโจร 2-3 กำมือมาล้างให้สะอาด แล้วนำไปผึ่งในที่ร่มที่มีลมโกรกจนกว่าใบจะแห้ง (ห้ามตากแดดโดยเด็ดขาด เพราะตัวยาจะสูญเสียไปกับความร้อน) เมื่อใบแห้งดีแล้ว นำมาบดให้ละเอียด แล้วใส่กระปุกเล็ก ๆ ไว้ เมื่อเป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ก็ให้เขย่ากระปุกนี้แรง ๆ แล้วเปิดฝาเพื่อสูดดมควันจากผงฟ้าทะลายโจร จะช่วยให้อาการดีขึ้น

17. ใช้แทนแอลกอฮอล์ล้างแผล
นำผงฟ้าทะลายโจร (ที่ได้จากการทำตามวิธีรักษาโรคหวัด คัดจมูก ด้วยการนำใบมาตากแห้งก่อนบดเป็นผง) มาแช่ทิ้งไว้กับเหล้าขาว 40 ดีกรี โดยให้เหล้าท่วมผงเล็กน้อย ปิดฝาขวดให้แน่นทิ้งไว้ 7 วัน ระหว่างนั้นให้เขย่าวันละ 1 ครั้งจนกว่าจะครบทั้ง 7 วัน เมื่อเป็นแผลสดก็นำมาทาแผลตามปกติ (สูตรนี้สามารถนำมาดื่มเพื่อกระตุ้นความอยากอาหารได้อีกด้วย แต่ต้องกรองเอาเฉพาะเหล้าเท่านั้น ถ้าดื่มทั้งหมดจะขมมาก)

ข้อควรระวังในการใช้ฟ้าทะลายโจร

1. ไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกันเกิน 7 วัน เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ที่ค่อนข้างแรง อาจทำให้เกิดการปวดท้อง ท้องเสีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง วิงเวียนศีรษะได้ แต่ทางที่ดีหากรับประทานติดต่อกันเกิน 3 วันแล้วไม่ดีขึ้น ก็ควรหยุดรับประทานแล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงของโรคต่อไป ในกรณีที่จำเป็นจะต้องรับประทานต่อเนื่องเกิน 7 วันจริง ๆ ควรรับประทานคู่กับน้ำขิงเพื่อลดการเกิดผลข้างเคียงดังกล่าว (น้ำขิงมีฤทธิ์ร้อน จึงช่วยให้ร่างกายอบอุ่นได้)

2. ไม่ควรนำฟ้าทะลายโจรมาใช้กับผู้ที่มีปัญหาเรื่องความดันโลหิตต่ำ เนื่องจากฟ้าทะลายโจรก็มีสรรพคุณในการลดความดันโลหิต หากฝืนใช้ หรือใช้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจรู้สึกหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกมึนงงสับสน ถ้าเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น ควรหยุดใช้ทันทีแล้วอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองภายใน 3-4 ชั่วโมง เนื่องจากฟ้าทะลายโจรไม่มีการตกค้างในร่างกาย

3. ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ “เย็น” จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้ที่มีฤทธิ์ “ร้อน” ถ้าหากว่าผู้ป่วยเป็นหวัดที่เกิดจากฤทธิ์ “เย็น” (เช่น มีอาการหนาวข้างในร่างกาย เป็นไข้แบบไม่มีเหงื่อ) แล้วใช้ฟ้าทะลายโจร อาจทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม

4. ฟ้าทะลายโจรมีผลข้างเคียงรุนแรง ควรสังเกตอาการอยู่เสมอว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เพราะในรายที่มีการแพ้ฟ้าทะลายโจรมาก อาจมีอาการเริ่มต้นตั้งแต่ ผื่นขึ้น หน้าบวม ตัวบวม หายใจไม่ออก ถึงขั้นเสียชีวิตได้ทันที

5. สตรีที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ และอยู่ในช่วงให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานฟ้าทะลายโจร เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเด็ก และทำให้เกิดความผิดปกติได้ .

ฟ้าทะลายโจร เป็นสมุนไพรรสขมที่อุดมไปด้วยสรรพคุณทางยาสูงมาก ซึ่งหากใช้อย่างเหมาะสมจะช่วยบรรเทาอาการของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่แม้ว่าจะมีคุณประโยชน์มาก แต่หากใช้ผิด ก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรศึกษาข้อระวังในการใช้โดยละเอียด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร

Recent Posts