ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น – ลำต้นบุกเป็นส่วนที่เจริญออกมาจากหัวใต้ดิน แทงขึ้นตรงกลางของหัวบุก มีลักษณะลำต้นทรงกลม ลำต้นตั้งตรง ไม่มีกิ่ง ความสูงประมาณ 0.5-3 เมตร มีขนาดแตกต่างกันตามสายพันธุ์ ลำต้นบุกเป็นเนื้อเยื่ออ่อน หักโค่นง่ายเมื่อถูกกระแทกหรือมีลมพัดแรง เปลือกลำต้นมีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ แต่เหนียวลอกออกเป็นเส้นยาวได้ ผิวเปลือกมีหลาหลายสีปนกันเป็นลาย เช่น สีเขียว สีขาว สีเทา แต่สีหลักจะเป็นสีเขียว ลำต้นจะเกิดใหม่ในทุกๆปีในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม

หัวบุก – หัวบุกเป็นส่วนที่มีลักษณะเป็นก้อนทรงกลมแบน ฝังอยู่ใต้ดิน ทำหน้าที่เก็บสะสมแป้ง และสร้างลำต้นใหม่ เปลือกมีทั้งผิวขรุขระ และผิวเรียบ เปลือกหัวบางชนิดมีสีขาวเหลือง บางชนิดมีสีน้ำตาลอมเหลือง หรือ สีน้ำตาล เนื้อด้านในมีสีขาวอมเหลือง มีเนื้อเรียบ ละเอียด และมีเมือกลื่น หัวบุก 1 หัว จะแตกหัวบุกใหม่ได้ 5-10 หัว มีระยะการเติบโตประมาณ 8-12 เดือน น้ำหนักหัวประมาณ 6-10 กิโลกรัม เมื่อเติบโตเต็มที่ ซึ่งมักใช้เวลาข้ามปี และยิ่งอายุมากก็ยิ่งมีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมาก บุกบางชนิดจะมีหัวเกิดบนใบบุก ซึ่งสามารถนำมาเพาะขยายพันธุ์ หรือ เก็บเป็นผลผลิตได้

ใบ – ใบบุกจะเจริญมาพร้อมกับลำต้นบุก แตกออกเป็น 3 ทาง หรือ 3 ก้านใบ บริเวณปลายยอดของลำต้น แต่ละก้านใบแตกออกเป็นใบย่อยประมาณ 6 ใบ ลักษณะใบมีความแตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ บางชนิดใบเรียวยาว บางชนิดใบกว้าง บางชนิดมีจุดปะสีขาว เป็นต้น ใบ และลำต้นจะเริ่มเหี่ยวร่วงในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน

ดอก  ดอกบุกจะออกได้ก็ต่อเมื่อบุกเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว 4-6 ปี โดยจะแทงออกจากหัวบุกหลังจากลำต้นเหี่ยวตายแล้ว ประกอบด้วยก้านดอก ที่มีลักษณะ และขนาดคล้ายกับลำต้น ปลายก้านดอกเป็นกลีบดอก และมีเกสรด้านใน เมื่อบานเต็มที่จะส่งกลิ่นเหม็นคล้ายกลิ่นเนื้อเน่า ส่วนผล และเมล็ดจะติดเป็นกระจุกกับก้านดอก เมื่อสุกผลจะมีสีส้มแดง

ที่มา : กรมวิชาการเกษตร

Recent Posts