กระท่อม (Kratom) ชื่ออื่นๆ ท่อม อีถ่าง
ล้ำต้น : กระท่อมหากอยู่ในที่โล่งแจ้ง สามารถมีความสูงเหมือนไม้ยืนต้นทั่วไป และมีอายุยาวนานนับร้อยปี ความสูงลำต้นจะเป็นทรงพุ่ม โดยกิ่งหลักที่แผ่ออกจากลำต้นจะยาวประมาณ 2-3 เมตร ฉะนั้นจึงมีทรงพุ่มกว้างราว 5-6 เมตร ความสูงของเรือนยอดจะสูงไปเรื่อย ๆ เพราะอิทธิพล ของแสง ความสูงของเรือนยอดเป็นอุปสรรคในการเก็บใบ ลำต้นจึงถูกตัดเพื่อให้แตกกิ่งใหม่รอบ ๆ ลำต้น ซึ่งสามารถเว้นจำนวนกิ่งได้ตามความต้องการ เมื่อกิ่งโตได้ขนาด สามารถตัดกิ่งเพื่อให้เกิดกิ่งใหม่ได้อีกและจะทำให้มีเรือนยอดหลาย ๆ เรือนยอด และมีจำนวนใบที่ใช้ประโยชน์ได้เพิ่มขึ้นเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลาง มีแก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง สูง10 -15 เมตร อยู่ในตระกูล Mitragyna speciosa
กิ่ง : ต้นกระท่อมที่สมบูรณ์ที่สุดจะต้องทอดกิ่งใบทั้ง 4 ทิศ แบบสลับชั้นกิ่ง โดยกิ่งคู่แรกจะหันไปทางทิศตะวันออก และทิศตะวันตก คู่ต่อไปจะหันไปทางทิศเหนือและทิศใต้ และจะสลับทิศไปถึงเรือนยอด หากจำแนกชนิดของกิ่งพืชกระท่อม พอจำแนกได้เป็น 3 ชนิด คือ กิ่งหลัก กิ่งแขนง และกิ่งกระโดง กิ่งหลัก คือ กิ่งที่แตกจากลำต้นมีขนาดใหญ่กว่ากิ่งแขนงที่แตกจากกิ่งหลัก กิ่งแขนง คือ กิ่งที่แตกจากกิ่งหลักมีขนาดเล็กกว่ากิ่งหลัก กิ่งกระโดง คือ กิ่งกระโดงนั้นจะแตกออกจากกิ่งหลัก แต่จะพุ่งไปทิศทางเดียวกับเรือนยอด และจะกลายเป็นเรือนยอดใหม่ที่จะทำให้พืชกระท่อมขยายทรงพุ่ม มีกิ่งและใบมากขึ้น และกิ่งกระโดงจะมีกิ่งแขนงแตกออกจากข้อใบบริเวณด้านล่างของตาใบ กิ่งแขนงมากใบย่อมมากตาม ดังนั้น การปลูกพืชกระท่อมเป็นแปลงและต้องการผลิตผล คือ มีใบมาก ควรพิจารณาถึงการจัดระเบียบถึงกิ่งของต้นพืชกระท่อม ให้หันไปในทิศทางเดียวกัน โดยกำหนดให้แถวตามยาวหันไปทางทิศเหนือ
ใบ : ใบคล้ายใบกระดังงา ใบกระท่อมมีก้านใบสีแดงและใบเดียวสีเขียว เรียงตัวเป็นคู่ตรงข้าม แผ่นใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-10 ซม. ยาวประมาณ 8-14 ซม.
ดอกและผล : กระท่อมออกดอกไม่พร้อมกันทั้งต้นเหมือนพันธุ์ไม้ยืนต้นทั่วไป แต่จะออกดอกและผลบริเวณปลายกิ่งแขนง ดอกมีสีขาวอมเหลืองออกเป็นช่อตุ้มกลมขนาด 3-5 ซม. ดอกกระท่อมมีรูปทรงกลมคล้ายดอกกระถิน มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ คล้ายดอกกระดิน หรือดอกกระดังงา ดอกที่สมบูรณ์เพศจะมีกลีบเกสรตัวเมีย ส่วนดอกที่ไม่สมบูรณ์เพศจะไม่มีเกสรดอกทั้งสองแบบจะติดอยู่กับขั้วปลายกิ่งและจะพัฒนาเป็นผลสุกและแก่ ตามลำดับ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mitragyna speciosa Korth. อยู่ในวงศ์ Rubiaceae
แหล่งที่พบ : ในบางจังหวัดของภาคกลาง เช่น ปทุมธานี แต่จะพบมากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูลพัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และตอนบนของประเทศมาเลเซีย
ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ศุภวัฒน์ กล่อมวิเศษ