การฟื้นฟูปูม้า
ที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ของประเทศไทยที่เคยมีการใช้ประโยชน์จากปูม้าโดยส่วนใหญ่ จะประกอบอาชีพการประมงอวนปู และนำปูม้าที่ได้มาขายเป็นปูสดหรือนำมาต้มแกะเนื้อขาย และยังมีชาวประมงบางส่วนที่ดำเนินการจับปูโดยไม่ได้คำนึงขนาดปู ซึ่งขัดต่อกฎหมาย และทำให้ทรัพยากรปูตามธรรมชาติขาดแคลน ทำให้หลายหน่วยงานภาครัฐต้องเร่งจัดการฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรปูม้า ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เพื่อจะทำให้มีทรัพยากรเพียงพอ เกิดความมั่นคงอาหารมากขึ้น เช่น การทำธนาคารปู ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่นเปลี่ยนจากระบบไฟฟ้าบ้านทั่วไป มาเป็นระบบไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าและลดปัญหาไฟตก ไฟกระชากที่มีผลต่อปั๊มออกซิเจนในบ่อเพาะเลี้ยง และการปรับอาหารในการเลี้ยงปูลูกอ่อนเพื่อให้ปูมีความสมบูรณ์ได้รวดเร็วขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาปูม้าของชาวประมงขนาดเล็กให้เข้าสู่มาตรฐานสินค้าเกษตร โดยเน้นเรื่องของสุขลักษณะในการทำการประมง ตั้งแต่โครงสร้างของเรือประมงที่เป็นแหล่งจัดเก็บปูม้าขณะทำการเก็บเกี่ยว รวมทั้งพัฒนาไปถึงแพปูม้า ที่เป็นแหล่งเก็บรักษาและกระบวนการทำความสะอาดหลังการเก็บเกี่ยว ให้สะอาด ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อน แบ่งแยกพื้นที่ในการจัดเก็บชัดเจน ถูกสุขลักษณะและอนามัย และผู้ปฏิบัติงานทุกคนในทุกกระบวนการต้องมีสุขอนามัยที่ดีด้วย
ที่มา : สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร