ฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม

องค์ประกอบพื้นฐานของฟาร์มเพาะเลี้งปลาสวยงาม
ทำเลที่ตั้งของฟาร์ม – ควรอยู่ในทำเลที่มีแหล่งน้ำมีคุณสมบัติเหมาะสม ไม่มีการปนเปื้อนของโลหะหนักและสารพิษประเภทอื่น ๆ หรือถ้ามีก็มีในปริมาณน้อยที่สุด (ตารางที่ 1) มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับใช้ในกิจกรรมการเพาะเลี้ยงปลาตลอดปี มีแหล่งระบายน้ำทิ้ง มีการคมนาคมสะดวกและมีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

แหล่งน้ำสำหรับการเพาะเลี้ยง – แหล่งน้ำที่นำมาเลี้ยงปลาสวยงามควรมีปริมาณที่เพียงพอและมีคุณสมบัติที่เหมาะสมได้แก่ น้ำที่มีปริมาณออกชิเจนละลายต้องไม่น้อยกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตร มีก๊ซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อลิตร (ในขณะที่ปริมาณก๊าซออกซิเจนก็ควรมีอยู่เพียงพอด้วย) มีค่าความเป็นกรด-ด่าง (PH) 6-9 มีค่าความเป็นด่าง (Alkalinity) 90-200 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือสูงกว่าเล็กน้อย ความกระด้างประมาณ 75 หรือไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อลิตร มีอุณหภูมิน้ำ 23-32 องศาเซลเซียส มีความโปร่งใส 30-60 เซนติเมตร และมีปริมาณสารแขวนลอยไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อลิตร แอมโมเนียที่เป็นพิษต่อปลาไม่เกิน 0.02 มิลลิกรัมต่อลิตร คลอรีนซึ่งมีอันตรายสูงจากน้ำประปาหรือน้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ต้องไม่มีเลย หรือถ้ามีก็น้อยมากไม่เกิน 0.005 มิลลิกรัมต่อลิตร

บ่อและระบบบ่อ – แบ่งตามประเภทการใช้งานบ่อที่ใช้ในระบบการผลิตปลาสวยงามควรประกอบด้วยบ่อ 8 ประเภท ดังนี้

บ่อพักน้ำ ใช้สำหรับเก็บกักน้ำเพื่อปรับสภาพน้ำให้มีคุณสมบัติเหมาะสมและมีปริมาณพอเพียง อาจเป็นบ่อซีเมนต์หรือบ่อดิน ถังไฟเบอร์กลาสหรือถังโลหะกันสนิมอื่นๆ ขนาดของบ่อพักน้ำที่เหมาะสมควรบรรจุน้ำได้ประมาณ 1/3 ของปริมาตรน้ำที่ใช้ในระบบการผลิต ส่วนรูปทรงและตำแหน่งที่ตั้งขึ้นกับพื้นที่ใช้สอย ถ้าสามารถสร้างแยกกันเป็นหลาย ๆบ่อ ก็จะเป็นการดีเพื่อความสะดวกในการหมุนเวียนใช้งานและการทำความสะอาด

บ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ใช้สำหรับเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ให้เจริญเติบโตถึงวัยเจริญพันธุ์และมีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่ ขนาดพื้นที่และความลึกของบ่อต้องสอดคล้องกับชนิดและอุปนิสัยของปลา อาจเป็นบ่อซีเมนต์ บ่อดิน ถังไฟเบอร์กลาสหรือตู้กระจกก็ได้ ในการก่อสร้างหรือติดตั้งบ่อประเภทนี้ควรคำนึงถึงสถานที่ตั้งและระบบการถ่ายเทน้ำเป็นสำคัญเพราะการดำเนินการระหว่างการเลี้ยงถ้าคุณสมบัติของน้ำไม่ดีหรือทำให้ปลาตื่นตกใจบ่อย ๆ จะกระทบกระเทือนต่อการกินอาหารของปลาซึ่งจะส่งผลถึงความสมบูรณ์ทางเพศของปลาด้วย

บ่อเพาะฟัก ใช้ในการผสมพันธุ์ปลา ขนิดและขนาดของบ่อขึ้นกับชนิดของปลาซึ่งต้องสอดคล้องกัน

บ่ออนุบาลลูกปลา ใช้ในการอนุบาลลูกปลา ชนิดและขนาดของบ่อขึ้นกับชนิดของปลาซึ่งต้องสอดคล้องกันบ่อเลี้ยง เป็นบ่อใช้สำหรับเลี้ยงปลาที่ผ่านการอนุบาลแล้ว เลี้ยงจนได้ชนาดจำหน่ายอาจเป็นบ่อชีเมนต์หรือบ่อดินก็ได้ ชนิดและขนาดของบ่อขึ้นกับชนิดของปลาซึ่งต้องสอดคล้องกัน

บ่อปรับสภาพปลา ควรเป็นบ่อซีเมนต์ ถังไฟเบอร์กลาส หรือตู้กระจก ใช้สำหรับปรับสภาพปลาที่ได้จากการเลี้ยงในบ่อดินเพื่อให้คุ้นเคยกับการอยู่ในที่กักขังก่อนจัดจำหน่ายเป็นปลาที่ผ่านการตัดเลือกแล้ว มีลักษณะสมบูรณ์ ไม่พิการ ไม่มีบาดแผล และจำแนกขนาดไว้พร้อมตามความต้องการของลูกค้า หากตรวจพบโรคต้องทำการรักษาให้ถูกวิธีก่อนนำออกจำหน่าย

บ่อกักกันโรค ควรเป็นบ่อซีเมนตั้ ถังไฟเบอร์กลาส หรือตู้กระจก ที่มีขนาดไม่เกิน 2 ตารางเมตร โดยจัดไว้บริเวณบ่อกักกันโรค เพื่อป้องกันน้ำกระเด็นออกไปปนเปื้อน มีระบบน้ำดีและน้ำทิ้งแยกออกจากกัน ซึ่งระบบดังกล่าวใช้สำหรับกักกันโรคที่อาจติดมากับปลาใหม่ที่นำเข้ามาในฟาร์ม ภายในเขตกักกันโรคควรมีอุปกรณ์การเลี้ยงปลาครบชุด เช่น ระบบให้อากาศ สายยาง แปรง สวิงต่างๆ ฯลฯ ไม่ใช้ปะปนกับอุปกรณ์ในส่วนอื่นของฟาร์ม ควรมีถาดน้ำยาเคมีไว้จุ่มรองเท้บูทเวลาเดินผ่านเข้า-ออกเขตกักกันโรค น้ำยาที่ใช้เติมในถาดอาจใช้คลอรีน 50 พีพีเอ็ม หรือไอโอดีน 250 พีพีเอ็ม และหมั่นเปลี่ยนน้ำยาในถาดใหม่ทุก ๆ 3-4 วัน ควรมีระบบบ่อพักน้ำทิ้งที่ออกมาจากบ่อกักกันโรคเพื่อใช้สารเคมีฆ่าเชื้อโรคก่อนปล่อยน้ำทิ้ง

บ่อบำบัดน้ำ เป็นบ่อรับน้ำเสียจากบ่อเลี้ยงต่าง ๆ อาจเป็นบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์ก็ได้ ต้องปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยการตกตะกอน ใช้พืชน้ำ แบคทีเรียหรือสารเคมีเป็นตัวช่วยบำบัดก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือนำกลับไปใช้ใหม่

แบ่งประเภทตามลักษณะโครงสร้างบ่อ บ่อตามลักษณะโครงสร้างสามารถแบ่งออกได้เป็น บ่อชีเมนต์ บ่อดิน ตู้กระจก อ่างเลี้ยงปลาที่สามารถเลี้ยงปลาได้โดยทำจากวัสดุสังเคราะห์และวัสดุประเภทต่างๆ ซึ่งพอจะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

บ่อดิน ควรเป็นบ่อที่สร้างจากดินเหนียวหรือดินเหนียวปนดินร่วน มีการออกแบบของบ่อให้มีความแข็งแรง ไม่พังทลายได้ง่าย ควรจะมีระบบป้องกันศัตรูที่จะเข้ามาทำร้ายปลาสวยงามได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บ่อปูนซีเมนต์ ควรเป็นบ่อที่มีความแข็งแรง มีทางน้ำเข้า- ออกแยกจากกันเพื่อสะดวกต่อการเปลี่ยนถ่ายน้ำและสุขอนามัยภายในโรงเรือนมีพื้นผิวที่ขัดมันเพื่อป้องกันการเกิดแผลจากการเสียดสีของตัวปลา

ภาชนะอื่นๆ วัสดุและสีที่ใช้จะต้องไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ ที่บริเวณรอยต่อของภาชนะจะต้องแน่นสนิท ไม่มีรอยรั่วซึมมีความหนาของวัสดุเหมาะสมกับปริมาตรน้ำที่จะบรรจุ

โรงเรือนเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม โรงเรือนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม เช่น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำในเวลากลางวันจากการได้รับแสงแดดโดยตรง การลดต่ำของอุณหภูมิน้ำเนื่องจากอิทธิพลของอากาศในฤดูหนาว หรือการเปลี่ยนแปลงของคุณสมบัติของน้ำเนื่องจากได้รับน้ำฝนโดยตรง เป็นต้นทั้งนี้เป็นเพราะปลาสวยงามส่วนใหญ่เป็นปลาที่มีขนาดเล็กและมีความอ่อนแอมากกว่าปลาทั่วไป เนื่องจากปลาบางตัวเป็นสายพันธุ์ยืนด้อยแต่มีความสวยงามและตลาดต้องการทำให้มีความต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมต่ำสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนมีการถ่ายเทของอากาศดี ไม่เป็นที่หมักหมม ไม่ขึ้นแฉะ ไม่มีกลิ่นอับเสาและโครงของโรงเรือนควรทำด้วยวัสดุที่แข็งแรง กันน้ำ กันสนิม ทนทาน และเหมาะสมกับชนิดปลาที่เลี้ยง หลังคาควรมุงด้วยกระเบื้องทึบสลับกับกระเบื้องใสหรือวัสดุอื่นที่แข็งแรงทนทาน และหลังคาควรสูงพอประมาณเพื่อระบายความร้อน

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง ควรมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองหรือระบบอื่นใด เพื่อความปลอดภัยของชีวิตปลาสวยงามในกรณีปลาที่มีความต้องการออกซิเจนสูง

ที่มา : กรมประมง

Recent Posts