ความสำคัญของสาหร่ายต่อระบบนิเวศ
นอกจากการนำสาหร่ายมาใช้ประโยชน์ในการนำมาเป็นอาหาร ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว สาหร่ายยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ ยกตัวอย่างดังต่อไปนี้
การใช้สาหร่ายในอุตสาหกรรม
นอกจากการนำสาหร่ายมาบริโภคเป็นอาหารหรือใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารโดยตรงแล้ว ยังนิยมนำสารสกัดจากสาหร่ายมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตวุ้น แอลจิเนต และคาร์ราจีแนนอีกด้วย วุ้น (Agar) เป็นสารจำพวกโพลีแซคคาไรด์ สกัดได้จากสาหร่ายสีแดง องค์ประกอบที่สำคัญของวุ้นคือ อะกาโรส (Agarose) และอะกาโรเพคติน (Agaropccin) โดยปริมาณและคุณภาพของวุ้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของสาหร่าย ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล สามารถนำวุ้นจากสาหร่ายมาประกอบอาหาร ใช้เป็นอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์ในห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา ใช้เป็นสารคงรูป (Stabilizer) หรือใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางบำรุงผิว ฯลฯ
แอลจิเนต (Alginate) สกัดได้จากสาหร่ายสีน้ำตาล ปกติเมื่ออยู่ในเซลล์จะอยู่ในรูปของกรดแอลจินิกซึ่งไม่ละลายน้ำ แต่เมื่อสกัดออกมาแล้วจะอยู่ในรูปของเกลือแอลจิเนตซึ่งละลายน้ำได้ เมื่อละลายน้ำจะได้สารละลายข้น เหนียว นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น นม ไอศกรีม ฯลฯ นอกจากนี้ยังใช้ในอุตสาหกรรมผลิตกระดาษ และเครื่องสำอางอีกด้วย
คาร์ราจีแนน (Carrageenan) สกัดได้จากสาหร่ายสีแดง สามารถละลายน้ำได้ดี มี 2 ชนิด
1) แคปปา คาร์ราจีแนน (KappaCaragecnan) ละลายได้ในน้ำร้อน ตกตะกอนได้ใน
สารละลายที่มีโปตัสเชียม ถ้ามีแคปปาคาร์ราจีแนนมากจะมีความแข็งสูง
2) แลมบ์ดา คาร์ราจีแนน (LambdaCaragecnan) ละลายได้ในน้ำเย็น ไม่ตกตะกอนใน
สารละลายที่มีโปตัสเซียมคาร์ราจีแนนใช้เป็นสารคงรูปในผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ไอศกรีม และผลิตภัณฑ์ขนม นอกจากนี้ยังใช้ในอุตสาหกรรมผลิตกระดาษ และเครื่องสำอาง
การใช้สาหร่ายเป็นยา
สาหร่ายบางชนิดมีสรรพคุณทางยา เช่น สาหร่ายสีน้ำตาลบางชนิดสามารถรักษาคอพอก แก้ร้อนในได้ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินบางชนิดให้สารออกฤทธิ์รักษามะเร็ง นอกจากนี้ สาหร่ายทะเลบางชนิดยังสามารถรักษาอาการท้องร่วง โรคทางเดินปัสสาวะ และลำไส้อักเสบได้
การใช้สาหร่ายเพื่อบำบัดคุณภาพน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม
การใช้สาหร่ายบำบัดน้ำทิ้งนั้นมีมานานแล้ว โดยเฉพาะการใช้สาหร่ายสไปรูไลนาซึ่งเมื่อเลี้ยงในน้ำทิ้งของการเกษตรและอุตสาหกรรมที่มีปริมาณ ไนเตรท แอมโมเนีย และฟอสเฟตสูง นอกจากจะช่วยบำบัดคุณภาพน้ำแล้ว ผลผลิตของสาหร่ายที่ได้ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกและมีราคาดี
การใช้สาหร่ายเป็นอาหารสัตว์หรือเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์
ในประเทศแถบยุโรป นิยมใช้สาหร่ายทะเลเป็นอาหารสัตว์ เช่น กระบือ โค แพะ แกะ เนื่องจาก สัตว์พวกนี้มีน้ำย่อยพิเศษสามารถย่อยสลายผนังเซลล์ของสาหร่ายซึ่งเป็นพวกเซลลูโลสได้ นอกจากนี้ยังมักใช้สาหร่ายสไปรูไลนาเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์น้ำเพื่อเร่งสี เนื่องจากสีที่เกิดขึ้นบนตัวปลาโดยทั่วไปจะเป็นสีของรงควัตถุที่เป็นสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ และเนื่องจากสัตว์ไม่สามารถสังเคราะห์แคโรทีนอยด์ได้เอง จึงจำเป็นต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น ดังนั้น ความเข้มของสีที่ปรากฏบนผิวปลาจะขึ้นอยู่กับปริมาณแคโรทีนอยด์ที่ได้จากอาหารนั่นเอง
การใช้สาหร่ายเป็นปุ๋ยชีวภาพ
สาหร่ายทะเลที่ถูกพัดมากองบริเวณชายหาดในบางฤดูกาลสามารถนำมาตากแห้งและใช้เป็นปุ๋ยคุณภาพดีได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำทำให้ดินชุ่มชื้นอยู่เสมอ นอกจากนี้ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินหลายชนิดยังมีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศเพื่อใช้ในกระบวนการทางชีวเคมีภายในเซลล์ ทำให้ไม่จำเป็นต้องให้สารอาหารอนินทรีย์ไนโตรเจนแก่สาหร่ายชนิดนี้ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินสามารถพบได้ในดินทั่วไป โดยเฉพาะในที่ชื้นแฉะ เช่น ในนาข้าว จึงได้มีงานวิจัยมากมายที่มีแนวคิดที่จะนำสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินนี้มาเป็นปุ๋ยชีวภาพให้นาข้าว เพื่อลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนซึ่งมีราคาแพง โดยข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของการใช้ปุ๋ยชีวภาพจากสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินสรุปได้ดังนี้
1) ปุ๋ยชีวภาพช่วยพัฒนาคุณภาพดิน โดยไม่เพียงแต่จะให้ธาตุอาหาร ไนโตรเจนเท่านั้น แต่ยังมีธาตุอาหารหลักและ รองอื่นๆ ด้วย โดยช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้ดิน
2) ช่วยประหยัดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ครึ่งหนึ่งหรือหนึ่งในสามของที่เคยใช้ เป็นการลดต้นทุน
3) ช่วยผลิตและให้ออกซิเจนแก่รากข้าวในสภาพน้ำขัง ช่วยป้องกันและลดปัญหารากข้าวเน่าเนื่องจากแบคที่เรียและราในสภาพขาดออกซิเจน
4) สามารถปลดปล่อยฮอร์โมนพืชและกรดแอสคอร์บิกลงในนาข้าว ช่วยให้ข้าวมีการเจริญเติบโตดีขึ้นและต้านทานโรคมากขึ้น
5) สาหร่ายในปุ๋ยชีวภาพจะสร้างสปอร์เพื่อขยายพันธุ์ โดยฝังตัวปะปนอยู่ในดิน ซึ่งจะสามารถงอกเจริญขึ้นเพื่อตรึงไนโตรเจนได้ใหม่ในฤดูฝนของปีต่อๆ ไป
6) สาหร่ายในนาข้าวจะเป็นอาหารให้ปลาในโครงการเลี้ยงปลาในนาข้าวได้อีก
การใช้สารสกัดจากสาหร่ายในการกำจัดแมลงศัตรูพืช
ได้มีการศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของสาหร่าย โดยพบว่า สาหร่ายมีทั้งสารออกฤทธิ์ต้านจุลชีพ (แบคทีเรีย ยีสต์ และรา) สารออกฤทธิ์ต้านราที่ก่อโรคพืช และสารออกฤทธิ์ต้านสัตว์ในกลุ่มแมลง อย่างไรก็ตามอาจมีการศึกษาให้มากขึ้น รวมถึงมีการพัฒนารูปแบบและวิธีการใช้ให้เหมาะสม เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การใช้สาหร่ายเพื่อประโยชน์ทางด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
สาหร่ายเป็นอาหารตามธรรมชาติของสัตว์ทะเล โดยเป็นจุดเริ่มต้นของการถ่ายทอดพลังงานในห่วงโซ่อาหาร ดังนั้น ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจึงจำเปีนต้องใช้สาหร่ายเพื่อเป็นอาหารสัตว์น้ำทั้งในทางตรงและทางอ้อม โดยในทางตรงคือ การใช้เป็นอาหารของลูกสัตว์น้ำ โดยเฉพาะลูกกุ้ง หรือหอยสองฝา และทางอ้อมคือการใช้สาหร่ายเป็นอาหารของแพลงก์ตอนสัตว์ แล้วนำแพลงก์ตอนสัตว์ไปเป็นอาหารของลูกปลาอีกทีหนึ่ง
สาหร่ายเป็นกลุ่มของสิ่งมีชีวิตที่สามารถพบได้ทั่วไปในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นในแหล่งน้ำจืด น้ำเค็มในอากาศ ดิน หิมะ หรือแม้กระทั่งพบอยู่กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น สืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและ ไม่อาศัยเพศมีความสำคัญต่อระบบนิเวศในฐานะเป็นผู้ผลิต และยังเป็นดัชนีบ่งบอกคุณภาพน้ำอีกด้วย เนื่องจากสาหร่ายให้คุณค่าทางโภชนาการสูง โดยให้พลังงานน้อย มีปริมาณแคลอรี โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตไม่สูงมากนักแต่มีแร่ธาตุและวิตามินซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จึงกลายเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาบริโภคในปัจจุบัน และนอกจากจะมีประโยชน์ทางด้านการบริโภคแล้ว สาหร่ายยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมายได้แก่ การใช้บำบัดคุณภาพน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม การใช้เป็นอาหารสัตว์หรือเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์การใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพ การใช้สารสกัดจากสาหร่ายในการกำจัดแมลงศัตรูพืช และการใช้เพื่อประโยชน์ทางด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
จากประโยชน์เหล่านี้ทำให้เห็นว่า สาหร่ายอาจเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ที่มา : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี