ความสำคัญของสาหร่ายต่อระบบนิเวศ
สาหร่ายเป็นผู้ผลิตของระบบนิเวศในน้ำ โดยสาหร่ายจะมีการเจริญเติบโตเนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น แสง ปริมาณสารประกอบคาร์บอน สารอาหารอื่นๆ เป็นต้น แพลงก์ตอนสัตว์จะกินสาหร่ายเป็นอาหาร ซึ่งแพลงก์ตอนสัตว์เหล่านี้จะกลายเป็นอาหารของสัตว์น้ำอื่นๆ เป็นทอดๆ ไป และเมื่อสาหร่ายตายลง มวลชีวภาพของสาหร่ายยังเข้าสู่วัฏจักรการย่อยสลายโดยแบคทีเรียและจุลชีพอื่นๆ ที่มีในน้ำ จึงอาจกล่าวได้ว่า สาหร่ายเป็นผู้ผลิตที่ถ่ายทอดพลังงานต่อไปในห่วงโซ่อาหาร
นอกจากนี้ สาหร่ายยังสามารถใช้เป็นตัวดัชนีบ่งบอกคุณภาพน้ำ ซึ่งถือเป็นการตรวจวัดคุณภาพน้ำทางชีวภาพ โดยสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำสามารถทนต่อปัจจัยสิ่งแวดล้อมในแหล่งน้ำได้แตกต่างกัน บางชนิดสามารถปรับตัวในน้ำที่มีคุณภาพน้ำดี บางชนิดสามารถปรับตัวได้ดีในน้ำที่มีคุณภาพน้ำเสีย สัตว์น้ำส่วนใหญ่ต้องการออกซิเจนในการหายใจ สัตว์ส่วนมากชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่สะอาด มีออกซิเจนสูง แต่ก็มีหลายชนิดอยู่ในที่ซึ่งมีออกซิเจนน้อยได้และบางชนิดก็ทนอยู่ได้ในที่เกือบไม่มีออกซิเจนเลย แหล่งน้ำที่เกิดการปนเปื้อนจะมีปริมาณออกซิเจนละลายน้ำลดลง เนื่องจากการใช้ออกซิเจนของจุลินทรีย์ ดังนั้น สัตว์ที่ต้องการออกซิเจนมากก็จะตายหรือหนีไป เหลือเฉพาะกลุ่มสัตว์ที่อาศัยอยู่ได้ในน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนน้อย เราจึงใช้สัตว์เหล่านี้ตรวจคุณภาพน้ำได้ โดยศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาได้ยกตัวอย่างชนิดของสาหร่ายที่สามารถบ่งบอกคุณภาพน้ำได้ ดังนี้
1) สาหร่ายที่บอกคุณภาพนํ้าดีได้แก่ยูแอสตรัม (Euastrum sp.) พินนูลาเรีย (Pinnularia sp.) คลอสทีเรียม (Closterium sp.)
2) สาหร่ายที่บอกคุณภาพนํ้าปานกลาง ได้แก่ เทตระอีดอน (Tetraedron sp.) ซิกเนมา (Zygnema sp.) เซอราเตียม (Ceratium sp.)
3) สาหร่ายที่บอกคุณภาพนํ้าเสีย ได้แก่ ฟากส ( ั Phacus sp.) ออสซิลาทอเรีย (Oscillatoria sp.) ยูกลีนา (Euglena sp.)
ที่มา : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี