สาหร่าย

     สาหร่ายเป็นพืชที่อยู่ในพวก Thallophytes ที่โครงสร้างของพืชเหล่านี้ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงเป็นลำต้น ราก และใบที่แท้จริง ดังนั้น เราจึงเรียกส่วนทั้งหมดของสาหร่ายว่า ทัลลัส (thallus) ส่วนใหญ่จะมีคลอโรฟิลล์ แต่ก็มีสาหร่ายบางชนิดที่ไม่มีคลอโรฟิลล์ก็ได้ ด้วยเหตุนี้สาหร่ายที่มีคลอโรฟิลล์จึงดำรงชีวิตเป็นแบบ autotrophic ส่วนพวกที่ไม่มีคลอโรฟิลล์ก็จะดำรงชีวิตเป็นแบบ heterotiophic ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพและสิ่งแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่

     เป็นการยากที่จะแยกสาหร่ายกับพวก flagellated protozoa ด้วยเหตุนี้จึงมีนักชีววิทยาบางคนจัดรวมทั้งสาหร่ายและโปรโตซัวแยกออกเป็นอีกกลุ่มหนึ่งจากกลุ่มอาณาจักรพืชและอาณาจักรสัตว์ โดยเรียกกลุ่มนี้ว่า Protista สำหรับการแยกพวกสาหร่ายออกจากกลุ่มพืชนั้นไม่ยากนัก ทั้งนี้เพราะเหตุผลดังนี้
1. สาหร่ายยังไม่มีเนื้อเยื่อที่แท้จริง ถึงแม้ว่าทัลลัสของสาหร่ายบางชนิดจะประกอบด้วยเซลล์หลายชั้นและซับซ้อนก็ตาม แต่ก็ยังไม่ทำหน้าที่เป็นเนื้อเยื่อเหมือนพืชที่มี ระบบท่อลำเลียง (vascular plants)
2. สาหร่ายยังไม่มีระบบท่อลำเลียง (vascular systemn) แต่ก็มีสาหร่ายสีน้ำตาล (brow algae) บางชนิดที่มีทัลลัสขนาดใหญ่ประกอบด้วยเซลล์จำนวนมาก มีโครงสร้างที่คล้ายราก คล้ายลำต้นและคล้ายใบ บางชนิดก็มีเซลล์ที่คล้ายคลึงกับ phloem และ meristematic tissue ของพืชที่มีระบบท่อลำเลียง
3. อวัยวะสืบพันธุ์ (reproductive strurture) ของสาหร่ายประกอบด้วยเซลล์เพียงเซลล์เดียว ไม่มีชั้นของเซลล์อื่นใดห่อหุ้ม ยกเว้นอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ของ Charophyceae เท่านั้น
4. ไซโกตของสาหร่ายจะเปลี่ยนแปลงเจริญเติบโตเป็นทัลลัสได้โดยตรง โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็น เอมบริโอ (embryo) เสียก่อน
5. รงควัตถุที่สาหร่ายมี แต่พืชชนิดอื่น ๆ ไม่มี ได้แก่ phycobilin

ขนาด

     มีต่าง ๆ กัน จากเซลล์เดียวซึ่งมีเส้นฝาศูนย์กลาง 0.5 ไมครอนไปจนถึงพวก sea weed ที่มีขนาดใหญ่หรือยาวเป็นร้อยฟุตก็มี เช่น Macrocystis pyrifera (giant kelp) ซึ่งมีรายงานว่าเป็นสาหร่ายที่ยาวที่สุดในโลกโดยยาวถึง 700 ฟุต

รูปร่าง

     เนื่องจากสาหร่ายมีเป็นจำนวนมาก ขนาดก็มีต่าง ๆ กัน รูปร่างก็มีต่าง ๆ กัน ดังนี้
1. เซลล์เดียว เคลื่อนที่ได้ (motile unicellular) และเซลล์เดียวเคลื่อนที่ไม่ได้ (nonmotile unicellular)
2. หลายเซลล์อยู่รวมกันเป็นโคโลนี (colony) ซึ่งมีทั้งโคโลนีที่เคลื่อนที่ได้และโคโลนีที่เคลื่อนที่ไม่ได้
3. เป็นสายเรียบ ซึ่งมีทั้งแตกกิ่งก้านและไม่แตกกิ่งก้าน
4. เซลล์ซ้อนกันหลายชั้น มีทัลลัสลักษณะเป็นแผ่น (frond-like)
5.แตกกิ่งเป็นพุ่ม (bushy plants)
6. มี sheath หุ้ม
7. เป็นสายยาว ซึ่งตลอดสายเชลล์นั้นประกอบด้วยเซลล์เพียงเซลล์เดียวมีลักษณะเป็นคล้ายท่อตลอดสายเซลล์ (coenocytic filament)

ที่อยู่อาศัย

     โดยทั่ว ๆ ไปแล้วสาหร่ายชอบอยู่ในน้ำซึ่งต้องการสภาพสารเคมีและ physical condition ต่าง ๆ ตามแต่ชนิดของสาหร่าย สาหร่ายบางชนิดอยู่ในน้ำหรือบนผิวน้ำ บางชนิดอยู่ในดิน บางชนิดอยู่ในทรายตามชายหาด บางชนิดเจริญเติบโตบนก้อนหินชื้น ๆ ท่อนไม้หรือดิน สาหร่ายหลายชนิดสามารถเจริญเติบโตอยู่เฉพาะในน้ำเค็ม น้ำกร่อย บางชนิดก็อยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเต็ม พวกที่อยู่ในบ่อน้ำร้อนก็มี ส่วนมากเป็นพวกสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน บางพวกก็เจริญเติบโตอยู่บนหิมะ เช่น Chlamydomonas sp ซึ่งจะทำให้หิมะเป็นสีแดง ส่วน Raphidonema sp ทำให้หิมะเป็นสีเขียว ส่วนใหญ่จะเป็นพวกสาหร่ายสีเขียว

     สาหร่ายที่อยู่ในน้ำจืด (fresh water algae) และสาหร่ายที่อยู่ในน้ำทะเลหรือน้ำเค็ม (marine algav) อาจจะมีชีวิตความเป็นอยู่แบบ epiphyte ก็ได้ บางชนิดก็มีชีวิตเป็น endophyte คืออยู่ภายในหรือระหว่างเซลล์ของ host เช่น Anabaena ที่อยู่ในช่องว่างของใบของแหนแดง หรือในเซลล์ของพืชพวก Cycad เป็นต้น ที่เป็น parasite ก็มี เช่น Cephaleuros ที่อยู่ในใบของต้นชา ทำให้ต้นชาเป็นโรค บางชนิดก็เป็น epizoic คืออยู่บนตัวสัตว์หรือเป็น endozoic อยู่ภายในตัวสัตว์ เช่น Chlorella หลายชนิดที่ขึ้นอยู่บนฟองน้ำและ Hydra Characium ขึ้นอยู่บนหนวดของตัวอ่อนของยุง (mosquito Iarvae) Chlorella บางชนิดอยู่ใต้เกล็ดปลา Basicladia ขึ้นอยู่บนกระดองเต่า สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินบางชนิดเจริญเติบโตอยู่ในทางเดินอาหารของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสาหร่ายบางชนิดอยู่ตามบริเวณน้ำที่ไหลอยู่เสมอ เช่น น้ำตก พวกสาหร่ายบางชนิดก็มีชีวิตอยู่ร่วมกับราก่อให้เกิดเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ไลเคน (lichen)

ที่มา : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Recent Posts