การเพาะเห็ดด้วยกิ่งหม่อนและมูลไหม

     นับจากปี 2537 ได้นำกิ่งหม่อนที่เหลือจากการเลี้ยงไหมมาเพาะเห็ด โดยใช้เทคนิคการเพาะเห็ดในถุงพลาสติกพบว่า เมื่อนำกิ่งหม่อนมาบดย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ ด้วยเครื่องบดย่อยซากพืช หรือสับตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ยาวประมาณ 1 – 2 เซนติเมตร นำมาแช่น้ำให้อิ่มตัว เติมอาหารเสริม ได้แก่ รำข้าว ข้าวโพดบด กากมันสำปะหลัง หรือมูลไหมแห้งในปริมาณที่เหมาะสมทำเป็นถุงก้อนเชื้อเห็ดเช่นเดียวกับการทำ ถุงเห็ดด้วยขี้เลื่อยไม้ยางพารา สามารถเพาะเห็ดหลายชนิดได้ดี ได้แก่ เห็ดพวกนางรมนางฟ้า เห็ดขอน เห็ดลม เห็ดหูหนู เห็ดหลินจือ และเห็ดหอม โดยมีผลผลิตและคุณภาพดอกเห็ดไม่ต่างจากเมื่อใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราเป็น วัสดุเพาะ ในการจะพัฒนาการเพาะเห็นจากกิ่งหม่อนให้เป็นอาชีพที่ทำรายได้เพิ่มให้กับ เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม นอกจากเกษตรกรจะต้องเรียนรู้การเพาะเห็ดอย่างง่าย ยังมีทุนประกอบการเพิ่ม ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อเกษตรกรการลงทุน จึงได้ศึกษาต้นทุนการเพาะเห็ดนางนมด้วยกิ่งหม่อนและมูลไหมพบว่า การใช้กิ่งหม่อนและมูลไหมในอัตราร้อยละ5 เพาะเห็ดนางรม ใช้ต้นทุนต่ำกว่าเมื่อใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพารา คือมีต้นทุนการผลิต 11.17 บาทต่อการผลิตเห็ด 1 กิโลกรัม ขณะที่เมื่อใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราผสมมูลไหมเป็นวัสดุเพาะ ต้นทุน 13.43 บาท ส่วนการใช้รำข้าวผสมกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราเพาะเห็ดดังกล่าว ต้นทุนการเพาะเห็ดเพิ่มขึ้นเป็น14.98 บาทต่อเห็ด 1 กิโลกรัม การนำกิ่งหม่อนและมูลไหมมาเพาะเห็ดจึงเป็นประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกรผู้ปลูก หม่อนเลี้ยงไหมสามารถเพิ่มรายได้จากสิ่งที่เหลือทิ้งและยังใช้ก้อนเห็ดที่ หมดอายุเป็นปุ๋ยอินทรีย์ในแปลงหม่อนได้ด้วย นับเป็นการปลูกหม่อนอย่างครบวงจร ใช้ประโยชน์จากหม่อนได้อย่างเต็มศักยภาพ สร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ทั้งเป็นการแก้ปัญหาการจัดการกำจัดที่สิ้นเปลืองทั้งแรงงานและเวลา รวมทั้งช่วยลดการเผาทำลายที่ก่อปัญหามลภาวะด้วย

ที่มา : กรมหม่อนไหม