กระดาษจากเปลือกในกิ่งหม่อน

     กระดาษสา จัดเป็นกระดาษทีมีความเหนียว คงทน รักษาสภาพ เก็บไว้ได้นานและมีการทำมานานหลายชั่วอายุคน โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากปอสา ( Broussonetia papyrifera (L) Vent) ซึ่งเป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตเร็วในสภาพธรรมชาติที่มีความชุ่มชื้น หุบเขา และริมแม่น้ำลำธาร มีชื่อสามัญว่า “Paper Mulberry” ในขณะที่ปอสามีการนำมาใฃ้อย่างต่อเนื่องทำให้ต้นปอสาจากธรรมชาติลดน้อยลง และส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ประกอบกับปอสาเป็นพืชวงศ์เดียวกับหม่อน ที่ใช้เลี้ยงไหม คือ Moraceae ดังนั้นหม่อนซึ่งเป็นพืชที่ปลูกกันอยู่ทั่วไป น่าจะมีศักยภาพในการนำมาทำกระดาษเช่นเดียวกับปอสา จากการศึกษาพบว่าเปลือกในกิ่ง (Inner bark) ของหม่อนสามารถนำมาทำกระดาษได้ดีตามตอนการผลิตกระดาษจากปอสา โดยเปลือกในกิ่งของหม่อนที่อายุ6 เดือน หรือ 12 เดือน ให้ผลผลิตเปลือกในต่อพื้นที่ต่อปีไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตเปลือกในกิ่งสดและแห้งของหม่อนพันธุ์ บุรีรัมย์60 ได้ 265 และ 110 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ไม่แตกต่างจากหม่อนพันธุ์นครราชสีมา60 ที่ให้ผลผลิตเปลือกในกิ่งสด 226 กิโลกรัม ต่อไร่ต่อปี ผลผลิตเปลือกในกิ่งหม่อนจะต่ำกว่าปอสามาก แต่ขั้นตอนการทำกระดาษจากหม่อนตามกรรมวิธีของการทำกระดาษสา จะใช้เวลาน้อยกว่าเกือบทุกขั้นตอน ยกเว้นการลอกเปลือกในกิ่งเพราะเปลือกในกิ่งหม่อนมีความหนาน้อยกว่าปอสา นอกจากนี้กระดาษที่ทำจากหม่อนยังมีน้ำหนักและความเหนียว (Strength) ไม่แตกต่างจากกระดาษที่ทำจากปอสา ดังนั้น ในอนาคตหม่อนอาจใช้เป็นพืชทดแทนปอสาในเวลาที่อุตสาหกรรมการทำกระดาษสาขาด แคลน

ที่มา : กรมหม่อนไหม