การพัฒนาการของผลหม่อน

     ผลหม่อนไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มของ berry fruit แต่จัดอยู่ในกลุ่มของ ผลรวม(collactive fruit หรือ inflorescent fruit) ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากช่อดอกทั้งช่อรวมกันเป็นผลเดียวกันแต่สามารถมองเป็นผล เล็ก ๆ แยกกันอยู่บนแกนของช่อผล ผลเล็ก ๆ เหล่านี้เรียกว่า syconus ซึ่งผลเหล่านี้อาจจะเกิดจากการผสมเกสรหรือไม่ต้องผสมเกสรก็ได้ จัดเป็นไม่ผลพวก parthenocarpic fruit หรือ seedless fruit ซึ่งเกิดจากการที่ไม่มีการถ่ายละอองเกสรทำให้รังไข่เจริญเติบโตไปเป็นผลแต่ ไข่อ่อนในรังไข่ไม่เจริญเติบโตไปเป็นเมล็ด โดยมีลักษณะ ขนาด คุณภาพและส่วนประกอบทางเคมีเหมือนกับผลที่มีการผสมเกสรทุกประการการพัฒนาการของผลหม่อนเริ่มจากดอกหม่อนจะแตกออกมาพร้อมกับใบ จะบานหลังจากแตกช่อใบพร้อมช่อดอกประมาณ 8- 12 วัน ดอกที่บานเต็มที่ยอดเกสรตัวเมียจะมีลักษณะสีขาวใส เมื่อได้รับการผสมเกสรจะเปลี่ยนสีเป็นสีเทาภายใน 3 วัน

     จากนั้นจะมีการพัฒนาการของผลโดยสีของผลจะเริ่มจากสีเขียว ขาว ชมพู แดง และ สีดำ รวมระยะเวลาหลังจากดอกประมาณ 40 -45 วันผลจะเริ่มสุกและแก่ ลักษณะผลหม่อนจะอวบน้ำและประกอบไปด้วยน้ำหวานเมื่อผลแก่เต็มที่ จากนั้นผลจะเริ่มนิ่มลงมีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้และน้ำตาลรีดิวซ์เพิ่ม ขึ้นถึงระยะประมาณ 56 วันหลังจากดอกบาน โดยจะมีน้ำตาลรีดิวซ์สูงถึง 65 กรัมต่อลิตรแต่ปริมาณกรดจะลดลงเรื่อย ๆ ทั้งนี้ที่ลักษณะของสีของผลไม่สามารถแบ่งชี้ถึงลักษณะของพันธุ์ได้ เช่น พันธุ์ white mulberry จะมีสีของผลเป็นสีขาว ชมพู แดง และสีดำ ผลจะมีความหวานมาก แต่จะมีส่วนประกอบของสารที่ให้ความเปรี้ยวปนอยู่ด้วยและมีน้ำหวานอยู่มาก นอกจากนั้นผลหม่อนเป็นผลไม้ที่มีสัดส่วนของความหวาน (sweetness) ความเปรี้ยว(tartness) ที่สมดุลกันกล่าวได้ว่าผลหม่อนเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดีที่สุด ซึ่งรสชาติความเปรี้ยวของผลหม่อนจัดได้ว่ามีระดับใกล้เคียงกับผลขององุ่น จากการทดสอบการชิมพบว่าผลหม่อนสุกและสุกจัดได้รับการยอมรับจากผู้ทดสอบมากที่สุด

ที่มา : กรมหม่อนไหม