ประโยชน์ของหม่อน

1. อาหารหนอนไหม
     ใบหม่อนมีปริมาณโปรตีน 22.60% คาร์โบไฮเดรท 42.25% ไขมัน 4.57% ความชื้น 6.55% เส้นใยและเถ้า 24.03% เป็นพืชอาหารที่วิเศษสุดสำหรับหนอนไหม (Bombyx mori ) ซึ่งเป็นไหมบ้าน นิยมเลี้ยงโดยทั่วไป ส่วนไหมชนิดอื่น ๆ ซึ่งเป็นไหมป่า บางชนิดใช้ใบละหุ่ง ใบกระท้อน ใบโอ๊ค หรือใบมันสำปะหลัง เป็นอาหารได้ นิยมเลี้ยงกันบ้างในประเทศอินเดีย จีน และญี่ปุ่น ปัจจุบันญี่ปุ่นได้พัฒนาพันธุ์ที่สามารถใช้ใบหม่อนและก้านอ่อนของหม่อนเป็นอาหารได้ ตลอดจนพันธุ์ไหมที่สามารถกินพืชตระกูลกระหล่ำได้ เช่น พันธุ์ Asagiri (J 601 x C 601) และพันธุ์ที่กินผลแอปเปิ้ลโดยไม่แสดงอาการเป็นพิษ ตลอดจนปัจจุบันสามารถผลิตอาหารเทียมที่ไม่ใช้ใบหม่อนเป็นส่วนประกอบได้แล้ว แต่การเจริญเติบโตและผลผลิตรังไหมก็ไม่สมบูรณ์เท่าเทียมกับการใช้หม่อนเป็นอาหาร เนื่องจากหนอนไหมมีความสามารถในการเปลี่ยนโปรตีนจากใบหม่อนเป็นเส้นใยไหมได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น ใบหม่อน 108-120 กก. สามารถเปลี่ยนเป็นรังไหมได้ประมาณ 6-7 กก. เมื่อสาวเป็นเส้นไหมจะได้ประมาณ 1 กก. เป็นอันว่าอุตสาหกรรมการผลิตไหมทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ และในครัวเรือนยังคงต้องปลูกหม่อนไว้สำหรับเลี้ยงไหม

2. พืชสมุนไพร
     ตำราสมุนไพรจีน กล่าวถึงสรรพคุณของหม่อนไว้อย่างมากมาย เช่น “ยอดหม่อน” นำมาต้มใช้ดื่มและล้างตา เพื่อบำรุงสายตา “ใบหม่อน” นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นพบว่า สามารถลดปริมาณคอเลสเตอรอลในกระต่าย ลดปริมาณน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิตและลดอัตราการตายของหนูที่มีสาเหตุจากมะเร็งในตับได้ “กิ่งหม่อน” ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก รักษาอาการปัสสาวะสีเหลือง กลิ่นฉุนเกิดจากความร้อนภายใน ทำให้ลำไส้ทำงานได้ดี ขจัดความร้อนในปอดและกระเพาะอาหาร ขจัดการหมักหมมในกระเพาะอาหารและเสลดในปอด นอกจากนั้นยังใช้รักษาอาการปวดมือ เท้าเป็นตะคริว เหน็บชา โดยใช้กิ่งหม่อนและโคนต้นหม่อนเก่า ๆ มาตัดเป็นท่อน ผึ่งไว้ให้แห้ง นำมาต้มดื่มก็สามารถขจัดโรคดังกล่าวได้ “ผลหม่อน” รักษาโรคไขข้อ บำรุงหัวใจบำรุงผมให้ดกดำ เลี่ยงฮียัง นักแพทยศาสตร์สมัยราชวงศ์เหม็ง กล่าวถึงผลหม่อนว่า ทำให้ตับไม่มีไฟ หัวใจคลายความร้อนรุ่ม เส้นประสาทตาดี สายตาก็แจ่มใส ร่างการก็สุขสบาย “รากหม่อน” สามารถลดปริมาณน้ำตาลในเส้นเลือด นั่นคือ ลดความรุนแรงและรักษาโรคเบาหวานได้ สารอัลคาลอย deoxnojirimycin (DNJ) จากส่วนเปลือกรากหม่อน Morus nigra ได้นำมาทำเป็นยาชื่อ Homonojirimycin เพื่อใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวาน นอกจากนั้น DNJ ที่มีคุณสมบัติทางเคมีคล้ายกับกลูโคส จะไปเพิ่มโมเลกุลของน้ำตาลที่ผิวด้านนอกของเชื้อ HIV เป็นอุปสรรคกีดขวางในการเข้าไปทำลายเซลล์ของเชื่อ HIV.Mr.Raymond Dwek และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดได้รายงานว่า butyl DNJ มีผลต่อการยับยั้งโรค AIDS มาก การทดลองในสัตว์ได้ผลดีระดับหนึ่ง การทดลองในคนไข้เอดส์ คาดว่าจะทำได้ในเร็ว ๆ นี้ และอาจเป็นข่าวดีสำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์พร้อมกับคำว่า “หม่อน พืชมหัศจรรย์”

3. อาหารและเครื่องดื่มมนุษย์
     ใครเล่าจะนึกว่าส่วนต่าง ๆ ของหม่อนนำมาเป็นอาหารและเครื่องดื่มได้ เกษตรกรของไทยจะปลูกต้นหม่อนไว้ก็เพื่อใช้ใบเลี้ยงไหม แต่ในทวีปยุโรป ออสเตรเลียและอเมริกาเหนือ รู้จักหม่อนว่าเป็นต้นไม้ที่ผลรับประทานได้ มักนิยมปลูกไว้เพียง 2-3 ต้น ตามสนามหญ้าหน้าบ้านหรือหลังบ้าน นอกจากจะเป็นไม้ประดับแล้ว ยังมีผลไว้รับประทานในครอบครัวอีกด้วย ลูกหม่อนจะหาได้ยากในท้องตลาด จะมีขายอยู่บ้างในซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งเช่น ที่เมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย หม่อนพันธ์พื้นเมืองของไทยที่มีเพศเมีย เช่น หม่อนไผ่ หม่อนคุณไพ จะมีผลขนาดเล็ก ไม่มีใครสนใจที่จะนำไปบริโภค จนกระทั่งเรามีหม่อนพันธุ์ลูกผสมที่ให้ผลผลิตใบสูงแล้วยังให้ผลที่มีขนาดใหญ่ คือ พันธุ์บุรีรัมย์ 60 และนครราชสีมา 60 ทำให้เรามีผลหม่อนสดรับประทานกัน นอกจากนั้น ผลสุกยังใช้ทำน้ำผลไม้และไวน์ที่มีรสชาติน่าสนใจไม่แพ้ผลไม้ชนิดอื่นเลย กากที่เหลือจาการทำน้ำผลไม้หรือไวน์ ยังใช้ทำแยมไว้ทาขนมปังได้อีกด้วย ยอดหม่อนและใบหม่อน ชาวอีสานทราบกันมานานแล้วว่า นำไปใส่ต้มยำไก่ ต้นยำเป็ด รสเด็ดอย่าบอกใคร รู้อย่างนี้แล้วท่านจะไม่ลองบ้างเชียวหรือ ชาวญี่ปุ่นดื่มน้ำชาจากผงใบหม่อนและรากหม่อนมาเป็นเวลากว่า 60 ปี สืบต่อกันเป็นประเพณีมาช้านาน เพราะเชื่อกันว่าจะช่วยรักษาสุขภาพ Mr.Tsushida และคณะ พบ gamma-aminobutyric acid ในหม่อนและได้พัฒนามาเป็น “Gabaron Tea” เพื่อใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง ถ้าท่านไปญี่ปุ่นก็ยังสามารถหาซื้อชาที่ทำจากรากและใบหม่อนได้ เรียกว่า “Kuwacha “ ซึ่งผลิตโดยบริษัท Hoshida

4. สารป้องกันกำจัดโรคพืช
     นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น พบว่าเนื้อเยื่อของกิ่งหม่อนบริเวณ cortex และ xylem จะสร้างสาร phytoalecins (PA) ที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อรา จึงทำให้หม่อนมีความสามารถในการต้านทานต่อเชื้อราบางชนิด เช่น Stigming mori และ Fusarium solanif.sp.mori ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้กิ่งหม่อนแห้งตาย และพบว่าสารออกฤทธิ์ที่สกัดได้จาก epidermal cells ของลำต้นและราก คือ prenylflavon compounda เช่น luwanon C, morucin , albanin A-H และ albafuran A&B สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Rosellinia necatrix ที่เป็นสาเหตุของโรครากขาวของหม่อนได้อย่างสิ้นเชิง การพัฒนาสารกำจัดโรคพืชชนิดใหม่ด้วยการใช้สารที่สกัดจากส่วนต่าง ๆ ของหม่อนเป็นความหวังของนักวิชาการโรคพืชในอนาคต คุณรังษี เจริญสถาพร และคณะ พบว่าสารสกัดจากเปลือกรากหม่อน ที่ความเข้มข้น 5,000 ppm. สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ชนิด Pythium sp. Phytophthora parasitica และ Phytophthora palmivira ได้ 100% ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา Fusarium oxysporum f.sp. vasinfectum และ Botryodiplodia theobrmae ได้ 78-79% และเชื้อรา Colletotrichum gloeospoioides ได้ 61% ในห้องปฏิบัติการ

5. กระดาษ
     คุณทิพรรณี เสนะวงศ์ แห่งสถานีทดลองหม่อนไหมเชียงใหม่ และคุณเพิ่มศักดิ์ สุภาพรเหมินทร์ แห่งศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ได้ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเปลือกลำต้นหม่อนไปทำกระดาษสา ในเบื้องต้นสามารถทำได้เช่นเดียวกับเปลือกลำต้นปอสา เพราะเป็นพืชอยู่ในวงศ์เดียวกัน การค้นคว้าวิจัยคงจะต้องดำเนินต่อไปถึงคุณภาพทางกายภาพและฟิสิกส์ของกระดาษสาที่ทำจากหม่อนว่าเป็นอย่างไร ขณะเดียวกับเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมรายหนึ่งแห่งอำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งผ่านการฝึกอบรมจากศูนย์วิจัยหม่อนไหมอุดรธานีกล่าวว่า บริษัทฟินิกส์ขอนแก่น ที่ผลิตกระดาษจากไม้ไผ่ ได้รับซื้อต้นหม่อนในราคากิโลกรัมละ 0.50 บาท เพื่อนำไปศึกษาการทำเยื่อกระดาษถ้ามีความเป็นไปได้ วัสดุเหลือใช้จากแปลงหม่อน หลังจากนำใบหม่อนไปเลี้ยงไหมแล้ว คือกิ่งหม่อนและลำต้นหม่อน คงมีคุณค่าต่อเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น

6. ไม้ประดับ
     ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ประเทศในเขตอบอุ่นทั้งในทวีปเอเซีย อเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย เช่น ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย จะมีการปลูกหม่อนไว้เป็นประดับตามสนามหญ้าหน้าบ้านหรือหลังบ้าน โดยเฉพาะหม่อนย้อยหรือหม่อนระย้า ที่มีลักษณะแตกต่างจากหม่อนทั่ว ๆ ไป คือ เมื่อแตกกิ่งใหม่กิ่งจะย้อยห้อยลงมาตามแรงดึงดูดของโลก ไม่ได้ตั้งตรงขึ้นไปเช่นพันธุ์อื่น ทำให้ดูเป็นพุ่มสวยงาม เคยมีผู้นำหม่อนระย้ามาปลูกที่ศูนย์วิจัยหม่อนไหมนครราชสีมา แต่ทราบว่าได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ท่านที่มีโอกาสเดินทางไปญี่ปุ่นและออสเตรเลีย น่าจะนำมาปลูกและขยายพันธุ์ให้แพร่หลายต่อไป ถนนบางสายในประเทศญี่ปุ่น เช่น ที่เมืองมัตสุโมโต้ มีการปลูกหม่อนเป็นไม้ประดับตลอดสาย มีการตัดแต่งให้เป็นพุ่ม ดูสวยงามไม่แพ้ไม้ชนิดอื่น ชาวไทยยังไม่นิยมใช้หม่อนเป็นไม้ประดับ อาจจะเป็นเพราะว่าพันธุ์พื้นเมืองไม่มีดอกที่สวยงาม ไม่มีผลให้รับประทาน แต่ปัจจุบัน หม่อนหลายพันธุ์ ที่มีผลใหญ่น่ารับประทาน เช่น พันธุ์บุรีรัมย์ 60 นครราชสีมา 60 ศรีสะเกษ 33 จีนเบอร์ 44 เมื่อประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงประโยชน์ของผลหม่อน ประชาชนโดยทั่วไปอาจปลูกไว้เป็นไม้ประดับตามบ้านเรือน เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศ มีต้นหม่อนปลูกไว้เป็นไม้ประดับอยู่ที่หน้าสถานีรถไฟชุมพรตัดแต่งเป็นพุ่มดูสวยงาม ดูแล้วคงมีอายุหลายปี แต่เสียดายที่มีเพียงต้นเดียว

7. อาหารสัตว์
     ใบหม่อนนอกจากใช้เป็นอาหารของหนอนไหมแล้ว ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่ชื่นชอบรสชาติของใบหม่อน เกษตรกรที่ไม่ล้อมรั้วแปลงหม่อนคงจะทราบดี นั่นคือ วัวและควายที่มักจะแอบมากินใบหม่อนก่อนหนอนไหมอยู่บ่อย ๆ แต่ที่จะกล่าวถึง คือ การนำใบหม่อนไปเลี้ยงปลา คุณกอบกุล แสนนามวงษ์ นักวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยหม่อนไหมอุดรธานี ได้ทดลองเลี้ยงไหมด้วยเศษใบหม่อนที่เหลือจากการเลี้ยงไหมไปเลี้ยงปลานิล พบว่าปลานิลมีการอยู่รอดถึง 98% หลังการเลี้ยง 6 เดือน ในขณะที่การเลี้ยงด้วยอาหารปลากินพืชลอยน้ำอยู่รอด 94% แม้ว่าน้ำหนักปลาที่ได้จะน้อยกว่ากันก็ตาม (93.7 กรัม และ 133.0 กรัม/ตัว ตามลำดับ) ในประเทศจีนมีการเลี้ยงไหมในหลาย ๆ คอมมูนด้วยกัน ดังนั้นวิธีนี้ก็สามารถนำมาเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้ทางหนึ่งเช่นกัน

8. วัสดุเพาะเห็ด
     คุณ ชวนพิศ สีมาขจร และคุณพินัย ห้องทองแดง แห่งศูนย์วิจัยหม่อนไหมนครราชสีมาได้นำกิ่งหม่อนที่เหลือจากการเลี้ยงไหม เป็นวัสดุหลักในการเพาะเห็ดหอมและเห็ดนางรมโดยใช้มูลไหมหรือรำข้าวละเอียดใน อัตรา 5% เป็นส่วนผสมพบว่าสามารถใช้กิ่งหม่อนเป็นวัสดุเพาะเห็ดหอมสายพันธุ์ L31 และเห็ดนางรมสายพันธุ์จากภูฏาน ฮังการี และเยอรมนีได้ดี ยกเว้นการเพาะเห็ดหอม ไม่ควรใช้มูลไหมเป็นอาหารเสริม เนื่องจากมูลไหมทำให้วัสดุเพาะย่อยสลายเร็ว และเห็ดหอมต้องใช้เวลาบ่มเชื้อเห็ดที่ออกดอกหมดแล้ว และเริ่มย่อยสลายสามารถใช้ เป็นปุ๋ยได้ โดยก้อนเชื้อเห็ดหอม มีไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมเท่ากับ 2.38, 0.31 และ 1.26% ส่วนก้อนเชื้อเห็ดนางรมมีปริมาณ 0.81, 0.21 และ 0.39% ตามลำดับ

9. ของที่ระลึกและอุปกรณ์กีฬา
     ไม้หม่อนที่เหลือจากการตัดแต่งใช้ใบไปเลี้ยงไหมแล้ว กิ่งที่ลอกเปลือกออกและไม่ได้ลอกเปลือกสามารถนำมาประดิษฐ์เป็นของที่ระลึกได้หลากหลายชนิด หรือของใช้ไม้สอยได้หลายอย่าง อาทิ กระเช้า หรือ ตะกร้าใส่แยมฯลฯ กิ่งหม่อนขนาดใหญ่หรือโคนหม่อนนำมาแกะสลักเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ทำเป็นพวงกุญแจหรือตั้งประดับในตู้กระจก หรือทำแบบจำลองวัสดุอุปกรณ์ต่างๆเป็นของที่ระลึกหรือทำเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวจำหน่ายได้ ในประเทศอินเดีย มีการใช้ไม้หม่อนทำอุปกรณ์กีฬา เช่น ไม้เบสบอล คริกเก็ตและอื่นๆ อุปกรณ์กีฬาที่ทำจากไม้หม่อนถือว่ามีคุณภาพสูง

10. ปุ๋ยและเชื้อเพลิง
     ในประเทศอินเดีย บังคลาเทศ และศรีลังกามีการใช้กิ่งหม่อนที่ได้จากการเลี้ยงไหม ตลอดจนตอหม่อนที่หมดอายุมาเป็นเชื้อเพลิง สำหรับประเทศไทยพบว่ามีการนำหม่อนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงน้อยมาก เนื่องจากนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยพืชสดใส่ในแปลงหม่อนแทน

ที่มา : กรมหม่อนไหม