ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของหม่อน

     มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Morus spp. เป็นไม้ยืนต้นจำพวกไม้พุ่ม อยู่ในวงศ์ Maraceae เช่นเดียวกับปอสา ขนุนและโพธิ์ เป็นต้น ลักษณะที่สำคัญของพืชในวงศ์นี้ คือ มียางมีขนที่ใบ (บางพันธุ์อาจมีน้อยมาก) มีเส้นใย ใบมีรูปร่างแตกต่างกัน ทั้งที่เป็นแฉกและไม่เป็นแฉก หม่อนแต่ละพันธุ์จะมีเพียงเพศเดียว ไม่เพศผู้ก็เพศเมีย มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่พบดอกทั้ง 2 เพศ อยู่ในต้นเดียวกัน หม่อนที่มีดอกเพศเมียจะมีเมล็ดสำหรับขยายพันธุ์แต่ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากจะได้ต้นที่ไม่เหมือนพันธุ์เดิม เพราะมีการผสมข้ามพันธุ์ จึงนิยมขยายพันธุ์ด้วยการปักชำท่อนพันธุ์ หม่อนสามารถเจริญได้ดีตั้งแต่เขตอบอุ่นจนถึงเขตร้อน

การจัดหมวดหมู่ของต้นหม่อน 
การจัดหมวดหมู่ของต้นหม่อนภายใต้ระบบการจัดหมวดหมู่อนุกรมวิธานของพืชมีดังต่อไปนี้
Division                 Spermatophyta
Class                     Angiospermae
Subclass                Dicotyledonae
Order                   Urticales
Family                   Morus
Species                 spp

     หม่อนเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์  Moraceae  ตระกูล  Morus spp.  มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเขตหนาว (temperate  zone) จัดเป็นไม้ผลในกลุ่ม  deciduous  fruit  plant  หรือ  ประเภท  hard  wood  คือ  ใบจะร่วง  ในฤดูใบไม้ร่วง  และมีการพักตัวในฤดูหนาว  ตาดอกเป็นชนิดตารวม  (mix  bud)  คือมีทั้งตาใบและตาดอกอยู่รวมกันมีผลแบบผลรวม  ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากตาข้างของปีนั้น (catkin)  หมายความว่า  จะมีช่อดอกเกิดที่ตาเหนือใบของตาข้างของกิ่งที่เกิดขึ้นใหม่  ส่วนลักษณะของดอกเป็นทั้งแบบดอกที่มีเกสรตัวผู้และตัวเมียแยกกันคนละต้น  (dioecious)    หรือบางพันธุ์อาจเป็นดอกที่มีเกสรตัวผู้และตัวเมีย  อยู่ในต้นเดียวกัน  (monoecious)  โดยมีดอกหลาย ๆ ดอกอยู่ในช่อเดียวกัน  ในบางครั้งต้นหม่อน  ที่เป็นพันธุ์เดียวกันสามารถจะมีการเปลี่ยนเพศจากเพศหนึ่งไปเป็นอีกเพศได้  ส่วนการผสมเกสรต้องอาศัยลมช่วยในการผสมเกสร

ช่อดอกตัวผู้
 ประกอบด้วยดอกตัวผู้หลาย ๆ ดอกรวมกันเป็นช่อเดียวกัน  ดอกตัวผู้  แต่ละดอกจะมีกลีบดอก  (sepal)  4  กลีบ  และเกสรตัวผู้  4  เกสร  (stamen)  ซึ่งแบ่งเป็น  2  ส่วน  คือ  ก้านเกสร  (filament)  และอับละอองเกสร  (anther)  เมื่อดอกบานก้านเกสรจะยืดตัวออกและปลดปล่อยละอองเกสรที่มีลักษณะสีเหลืองออก มาเป็นจำนวนมาก  มีการแพร่กระจายโดยใช้ลมเป็นตัวช่วย

ช่อดอกตัวเมีย ประกอบด้วย  กลีบดอก  4  กลีบ  รังไข่ (ovary)  ก้านเกสรตัวเมีย (style)  และยอดเกสรตัวเมีย (stigma)  โดยกลีบดอกจะห่อหุ้มรังไข่ไว้ซึ่งทำให้มองดูมีลักษณะคล้ายลูกบอลสีเขียว  ภายในถุงหุ้มรังไข่ (0embryo  sac)  จะมีไข่อ่อน (ovule)  บรรจุอยู่ก้านเกสรจะมีความยาวแตกต่างกันออกไปตามตามแต่ละชนิดของพันธุ์  ส่วนปลายสุดของก้านเกสรตัวเมียเรียกว่ายอดเกสรตัวเมีย  ซึ่งจะมีขนหรือปุ่มที่หนาแน่นปกคลุมอยู่บนยอดเกสรตัวเมียซึ่งจะเป็นแหล่ง ผลิตน้ำหวานขึ้นมาสำหรับดักจับเกสรตัวผู้  เมื่อยอดเกสรตัวเมียยืดตัวออกเต็มที่และมีลักษณะสีขาวแสดงว่าดอกบานเต็มที่ และเข้าสู่ระยะพร้อมที่จะได้รับการถ่ายละอองเกสรและได้รับการผสมพันธุ์แล้ว  เมื่อเกสรตัวผู้ตกลงบนยอดเกสรตัวเมีย  จะถูกจับยึดโดยเยื่อเมือกของเกสรตัวเมียทำให้มีการพองตัวและแทงหลอดละออง เกสร  (pollen  tube)  ลงไปสู่ถุงหุ้มรังไข่และผสมกับไข่อ่อน  หลังจากผ่านกระบวนการนี้แล้วการผสมพันธุ์จึงเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์

เมล็ดหม่อน มีลักษณะเป็นรูปไข่  สีเหลืองอ่อน  หรือเหลืองเข้ม  ขนาดเล็กประมาณ  1 x 1  มิลลิเมตร  เมล็ดในผลรวมของหม่อนที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะเป็นเมล็ดที่ได้รับการผสมเกสรอยู่ บางส่วน  แต่บางเมล็ดเป็นเมล็ดลีบที่ไม่ได้รับการผสมเกสร

ที่มา : กรมหม่อนไหม