เส้นทางสายไหม

     การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สันนิษฐานว่าเริ่มต้นในประเทศจีนเมื่อประมาณ 4,700 ปีมาแล้วมีตำนานเล่าว่าพระนางซีหลิงสี (Xi Ling Shi) พระมเหสีของจักรพรรดิชวนหยวน (Xaun Yaun) ได้พบรังไหมโดยบังเอิญ ขณะประทับในพระราชอุทยานพระนางทรงเห็นรังไหมอยู่บนต้นหม่อน ลักษณะเป็นรังสีขาวนวลจึงให้นางกำนัลเก็บมาถวาย แต่นางกำนัลทำรังไหมตกลงในถ้วยน้ำร้อน โดยอุบัติเหตุ เมื่อดึงรังไหมขึ้นมาก็ได้ เส้นใยที่เลื่อมมันและอ่อนนุ่มจึงลองนำเส้นใยที่ได้ไปทอเป็นผ้า เพื่อถวายพระจักรพรรดิ์ ซึ่งพระองค์ทรงโปรดปรานมาก จึงโปรดให้มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในพระราชวัง ต่อมาจึงนำออกเผยแพร่ให้ราษฎรทั่วไป ราษฎรจึงขนานนามพระนางซีหลิงซีว่า “พระนางแห่งไหม” และจัดให้มีการเซ่นไหว้เป็นประจำทุกปี

     ต่อมาราชวงศ์ฮั่น (ในราวปี 206 ก่อนคริสตกาลจนถึงคริสตศักราช 220) ได้มีการส่งทูตไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศทางตะวันตกโดยเริ่มต้นจากเมืองฉางอัน (Chang, an) ปัจจุบันเรียกซีอาน (Xi, an) ซึ่งเป็นเมืองหลวงอยู่ในมณฑลซานสี (Shaanxi) ผ่านมณฑลกันสู (Kansu) มณฑลซินเจียง (Xinjiang) ข้ามเทือกเขาพามีร์ (Pamir) สู่ประเทศอัฟกานิสถานและอิหร่าน อีกเส้นทางหนึ่งจะเดินทางผ่านทางตอนใต้ ของประเทศรัสเซีย เข้าสู่ประเทศเอเชียกลางไปยังประเทศแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเส้นทางเหล่านี้ ยาวมากกว่า 10,000 กิโลเมตร เป็นเส้นทางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการค้าระหว่างประเทศจีนและประเทศในเอเชียกลางในยุคนี้เส้นทางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการค้าระหว่างประเทศจีน และประเทศในเอเชียกลางในยุคนี้เส้นทางนี้รู้จักในนาม “เส้นทางไหม” (Silk Road)

     นอกจากนี้ในช่วงระยะเวลาเดียวกันยังมีการแพร่กระจาย โดยการเดินทางทางทะเลไป ยังคาบสมุทรเปอร์เซียและประเทศแถบชายฝั่งทะเลอาหรับ (Arabian Sea) หลังจากนั้นจึงแพร่กระจายไปยังประเทศอื่น ช่วงประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแพร่กระจายจากประเทศจีนไปยังประเทศเกาหลีหลังจากนั้นอีกประมาณ 300 ปี ได้แพร่กระจายจากประเทศเกาหลีไปสู่ประเทศญี่ปุ่น ช่วงประมาณคริสตกาล การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแพร่กระจายไปสู่ประเทศอินเดียและคาบสมุทรอินโดจีน ได้แก่ ประเทศไทย พม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ต่อจากนั้น จึงแพร่กระจายไปสู่ประเทศอินโดนีเซีย ช่วงประมาณศตวรรษที่ 9-11 การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแพร่กระจายไปสู่ประเทศอียิปต์ ประเทศชายฝั่งทางตอนเหนือของทวีปอัฟริกา ประเทศสเปน และเกาะซิลี นอกจากนี้ยังมีการแพร่กระจายไปยังแถบทางใต้ ของประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นบริเวณที่เส้นไหมเดินทางผ่าน ช่วงประมาณศตวรรษที่ 12-13 การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแพร่กระจายไปสู่ประเทศอิตาลี ช่วงประมาณศตวรรษที่ 14 การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแพร่กระจายไปสู่ประเทศฝรั่งเศส
ประมาณปี ค.ศ. 1522 การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแพร่กระจายไปสู่ทวีปอเมริกาโดยสเปน ซึ่งได้เข้าไปปกครองเม็กซิโก ผู้ปกครองชาวสเปนได้บังคับให้ราษฎรแถบชานเมืองปลูกหม่อนและเลี้ยงไหม หลังจากนั้นได้แพร่กระจายไปยังประเทศแถบทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกาใต้ เช่น สหรัฐอเมริกา เปรู และบราซิล

 

ประวัติและความเป็นมาของการเลี้ยงไหมในประเทศไทย

     การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในประเทศไทยเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใดไม่สามารถยืนยันได้ แต่พอสันนิษฐานได้ว่าคงกระทำกันมานานแล้วอาจจะโดยคนไทยที่อพยพลงมาจากประเทศจีนได้นำไข่ไหมและพันธุ์หม่อน ติดเข้ามาด้วยการเลี้ยงไหมในสมัยนั้นไม่ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน นอกจากจะเลี้ยงไว้เพื่อทอเป็นเครื่องนุ่งห่มไว้ใช้เองเท่านั้นจนกระทั่งมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกันทั่วไป โดยเฉพาะภาคอีสานมีการเลี้ยงไหมมากที่สุด แต่เส้นไหมที่ทำได้นั้นหยาบไม่สม่ำเสมอจะนำไปใช้ทอเป็นผ้าอย่างดีไม่ได้ ต้องมีการสั่งซื้อไหมดิบและผ้าไหมชนิดต่างๆ จากต่างประเทศเข้ามาใช้เป็นจำนวนมากดังนั้นพระองค์จึงทรงมีพระราชดำริจะบำรุงอุดหนุนการทำไหม เพื่อให้เพียงพอแก่การอุปโภคภายในประเทศโดยไม่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ

ดังนั้นในปี พ.ศ. 2444 กระทรวงเกษตราธิการซึ่งมีเจ้าพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์เป็นเสนาบดีได้จ้างผู้เชี่ยวชาญการปลูกหม่อนและการเลี้ยงไหมชาวญี่ปุ่น โดยมีศาสตราจารย์โทยาม่า (Kametaro Toyama) เป็นหัวหน้าคณะเข้ามาทำการสำรวจหาลู่ทางในการปรับปรุงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของไทย

● ปี พ.ศ. 2445 กระทรวงเกษตราธิการได้ให้คณะผู้เชี่ยวชาญหม่อนไหม สาวไหม เพื่อหาความรู้สำหรับใช้เป็นแนวทางพิจารณาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในประเทศไทย ส่วนด้านการสาวไหม รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงในสมเด็จพระพันปีหลวงฝึกหัดให้เครื่องสาวไหมของญี่ปุ่นชนิดหมุนด้วยมือและใช้เท้าเหยียบ

● ปี พ.ศ. 2446 รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมช่างไหมขึ้นโดยมีพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒน์พงษ์ เป็นอธิบดี ที่ว่าการตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งศาลาแดง โดยกรมช่างไหมจะมีหน้าที่ดังนี้

1.       จัดการบำรุงพันธุ์ไหมที่เลี้ยงแล้วให้ดีขึ้น

2.       แนะนำให้ราษฎรทำสวนหม่อนและเลี้ยงไหมตามแบบวิธีการอย่างใหม่

3.       ฝึกหัดให้ราษฎรสาวเส้นไหมตามวิธีใหม่โดยใช้เครื่องสาวไหมชนิดสามัญของญี่ปุ่นที่ใช้หมุนด้วยมือหรือเท้าเหยียบ

4.       แก้ไขเปลี่ยนแปลงเครื่องทอผ้าให้ดีขึ้นและฝึกหัดราษฎรให้รู้จักการทอผ้าชนิดต่างๆ ที่นิยมใช้กันทั่วไป

● ปี พ.ศ. 2447 ตั้งสาขากองช่างไหมขึ้นที่มณฑลนครราชสีมาและเปิดโรงเรียนช่างไหมขึ้นที่ตำบล ทุ่งศาลาแดง

● ปี พ.ศ. 2448 กรมช่างไหมได้ตั้งสาขาขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่ บุรีรัมย์ เรียกว่า กองช่างไหมเมืองบุรีรัมย์

● ปี พ.ศ. 2450-2452 กรมช่างไหมได้ทดลองส่งเจ้าพนักงานชาวญี่ปุ่นออกไปสอนการทำสวนหม่อน การเลี้ยงไหมและการสาวไหมตามวิธีสมัยใหม่ซึ่งได้ทดลองแล้วพบว่าดีกว่าวิธีเก่าที่ราษฎรปฏิบัติกันอยู่ ให้แก่ราษฎรในอำเภอพุธไธสง มณฑลนครราชสีมา จากการทดลองสอนพบว่า มีความเป็นไปได้จึงได้ทำการสอนเพิ่มอีก 2 อำเภอ คือ

1.       อำเภอรัตนบุรี

2.       อำเภอสุวรรณภูมิ

3.       อำเภอพยัฆภูมิพิไสย

นอกจากสอนการทำไหมแล้ว กรมช่างไหมยังมีแผนจะแจกพันธุ์ไหมให้แก่ราษฎรปีละ 3-4 ครั้ง โดยในครั้งแรกได้แจกเมื่อเดือนพฤษภาคม รศ.127 (พ.ศ.2452) ให้แก่ราษฎรในอำเภอพุทไธสง 110 คน อำเภอรัตนบุรี 84 คน ได้รับคนละตั้งแต่ 25 แม่พันธุ์ขึ้นไป

● ปี พ.ศ. 2453 กรมการช่างไหมได้สอนการทำไมเพิ่มขึ้นอีก 6 แห่งได้แก่

1.       เมืองอุบล

2.       เมืองร้อยเอ็ด

3.       เมืองสุรินทร์

4.       เมืองชัยภูมิ

5.       อำเภอศรีสะเกษ

6.       อำเภอจัตุรัส

● ปี พ.ศ. 2455 กระทรวงเกษตราธิการได้ยกเลิกกรมช่างไหมและสาขาต่างๆ เนื่องจากรัฐบาลให้เหตุผลว่ารัฐบาลได้สิ้นเปลืองเงินในการอุดหนุนงานนี้มากเป็นเงินจำนวนล้านบาท แต่ผลที่ได้ไม่มีอะไร รัฐบาลจึงได้ตกลงเลิกการบำรุงการทำไหม

ที่มา : กลุ่มส่งเสริมการผลิตหม่อนไหมกรมส่งเสริมการเกษตร