กระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์

     กว่าเมล็ดพันธุ์จะถูกผลิตออกมาจำหน่ายแก่เกษตรกรนั้น ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ อย่างมากมาย หากไม่นับกระบวนการปรับปรุงพันธุ์จนกระทั่งได้พันธุ์ดีที่มีลักษณะตามความต้องการของนักปรับปรุงพันธุ์แล้ว เมล็ดพันธุ์แบ่งออกเป็น 4 ชั้น ตามลำดับคือ เมล็ดพันธุ์คัด-เมล็ดพันธุ์หลัก- เมล็ดพันธุ์ขยาย- เมล็ดพันธุ์จำหน่าย

     เมล็ดพันธุ์คัด (Breeder Seed) เป็นเมล็ดพันธุ์ที่นักปรับปรุงพันธุ์ได้มาจากกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ มีลักษณะและคุณสมบัติต่างๆ ตรงตามความต้องการที่นักปรับปรุงพันธุ์กำหนด ซึ่งนักปรับปรุงพันธุ์จะเป็นผู้ควบคุมกำกับดูแลการผลิตเมล็ดพันธุ์คัดอย่างละเอียด ถี่ถ้วนทุกขั้นตอนและมักจะมีปริมาณน้อย ใช้เพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์หลักเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วเมล็ดพันธุ์คัดจะอยู่ในมือของนักปรับปรุงพันธุ์ทั้งของกรมวิชาการเกษตร สถาบันการศึกษา หรือภาคเอกชนที่ทำการพัฒนาพันธุ์พืชดังกล่าว

     เมล็ดพันธุ์หลัก (Foundation Seed) เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการนำเมล็ดพันธุ์คัดมาปลูก ภายใต้คำแนะนำของนักปรับปรุงพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร หรือสถาบันทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเมล็ดพันธุ์คัดนั้น เพื่อรักษาความบริสุทธิ์และลักษณะประจำพันธุ์ของพืชนั้นๆ ไว้มีปริมาณจำกัด ใช้เพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ขยาย หรือบางกรณีอาจนำมาผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์จำหน่าย หรือ เมล็ดพันธุ์คัดอีกก็ได้

     เมล็ดพันธุ์ขยาย (Registered Seed) เป็นเมล็ดพันธุ์ได้จากการนำเมล็ดพันธุ์หลักไปปลูก ภายใต้คำแนะนำของนักวิชาการ ซึ่งเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ขยาย จะเป็นผู้จัดการและดูแลแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ภายใต้คำแนะนำของนักวิชาการดังกล่าว โดยที่นักวิชาการไม่ได้เป็นผู้จัดการและดูแลแปลงด้วยตนเอง แต่เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองการผลิตเมล็ดพันธุ์ดังกล่าว

     เมล็ดพันธุ์จำหน่าย (Certified Seed) เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการนำเมล็ดพันธุ์ขยายไปปลูกต่อในปริมาณมาก โดยเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่าย จะเป็นผู้จัดทำแปลงขยายพันธุ์ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำจากนักวิชาการ และเมล็ดพันธุ์จำหน่ายที่ได้ จะเป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับทำพันธุ์ของเกษตรกรโดยทั่วไป บางกรณีเมล็ดพันธุ์จำหน่ายอาจได้จากการนำเมล็ดพันธุ์หลักมาปลูกต่อก็ได้ จากชั้นของการผลิตเมล็ดพันธุ์ในแต่ละชั้นต่างก็มีมาตรฐานที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามมาตรฐานหลักๆ ประกอบด้วย การกำหนดระยะห่างของแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์กับแปลงผลิตอื่นๆ ซึ่งขึ้นกับลักษณะการผสมพันธุ์ของพืชชนิดนั้นๆ ว่าเป็นพืชผสมข้ามหรือไม่อย่างไร สภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการผสมข้ามพันธุ์ ซึ่งอาจส่งผลต่อความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ที่จะผลิต ข้อมูลประวัติการปลูกพืชในแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ว่าเคยปลูกพืชชนิดใด พันธุ์ใดมาก่อนซึ่งอาจเกิดการปนเปื้อนได้หากการจัดการแปลงไม่ดีพอ

     ดังนั้นการตรวจแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยพืชแต่ละชนิด แต่ละพันธุ์จะมีข้อกำหนด และระยะเวลาในการตรวจแปลงที่แตกต่างกัน การเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมเพื่อรักษาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ การลดความชื้นและการทำความสะอาดเมล็ด ตลอดจนการควบคุมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ให้คงเปอร์เซ็นต์ความงอก และความบริสุทธิ์ไว้ในระดับที่ต้องการ ซึ่งแต่ละขั้นตอนจำเป็นต้องมีข้อมูลเพียงพอในการดำเนินการและควบคุมกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานของการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีปกติแล้ว เมล็ดพันธุ์ที่ได้มาจะไม่นำไปปลูกต่อในทันทีดังที่กล่าวมาข้างต้น จะต้องมีการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์หรือที่เรียกกันว่า Seed processing ซึ่งหมายถึง กระบวนการคัดแยกสิ่งเจือปนอันไม่พึงประสงค์ที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ให้หมดไป เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีมากยิ่งขึ้น ประกอบด้วย การทำความสะอาดและคัดแยกสิ่งเจือปน การลดความชื้น การคัดแยกขนาด การคลุกสารเคมีเพื่อป้องกันเชื้อราเข้าทำลาย และการบรรจุภาชนะเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ ยกตัวอย่างเช่น การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวโพดมาทั้งฝักแล้ว จะต้องผ่านการคัดฝักเสียทิ้ง ก่อนที่เข้าสู่การอบทั้งฝักเพื่อลดความชื้น จากนั้นจะเข้าสู่การกะเทาะเมล็ด และการอบเพื่อลดความชื้นของเมล็ดก่อนจะผ่านการทำความสะอาดเมล็ดโดยการใช้ลมและตะแกรง การคัดแยกเมล็ดพันธุ์ที่มีน้ำหนักแตกต่างกัน เมล็ดที่สมบูรณ์จะถูกคัดแยกมายังเครื่องคลุกสารเคมี ก่อนเข้าสู่การบรรจุหีบห่อต่อไป

     สำหรับเมล็ดพันธุ์ควบคุม พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดให้ฉลากต้องมีคำว่า “เมล็ดพันธุ์ควบคุม” ระบุชื่อและชนิดของเมล็ดพันธุ์ มีเครื่องหมายการค้า ชื่อผู้รวบรวมและสถานที่รวบรวม แหล่งรวบรวม น้ำหนักสุทธิหรือจำนวนเมล็ด ระบุหมวดหมายเลข (Lot.No.) ของเมล็ดพันธุ์ แสดงค่าเปอร์เซ็นต์ความงอก เปอร์เซ็นต์ความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ แสดงวันที่รวบรวมและวันที่สิ้นอายุใช้ทำพันธุ์ รวมทั้งต้องมีหมายเลข “พ.พ. ……/ พ.ศ. ….” ซึ่งเป็นหมายเลขที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร และต้องมีข้อความเตือนว่า “เก็บไว้ในที่แห้งเย็น ไม่ถูกแดด และมีอากาศถ่ายเท” ทั้งนี้หากมีการคลุกสารเคมีต้องระบุชนิด และอัตราสารเคมีที่ใช้ และมีเครื่องหมายกะโหลกไขว้กำกับไว้ด้วยในส่วนของผู้รับใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุม เพื่อการค้าต้องยื่นแบบแจ้งรายละเอียดของเมล็ดพันธุ์ควบคุม ตามแบบที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรประกาศกำหนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อแสดงชนิด ชื่อพันธุ์ รายละเอียด และรายงานผลการตรวจสอบของเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่ประสงค์จะรวบรวมก่อนทำการรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมชนิดและชื่อพันธุ์นั้นเพื่อการค้า

     นอกจากนั้น จะต้องจัดทำบัญชีการรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุม เพื่อการค้าทุกคราว ตามแบบที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรประกาศกำหนด โดยอย่างน้อยต้องแสดงชื่อเมล็ดพันธุ์ควบคุม ชื่อผู้ปลูก แหล่งปลูก วันเดือนปีที่ปลูก และปริมาณ ตลอดจนหลักฐานวัน เดือน ปี ที่ทำการทดสอบรวมทั้งต้องจัดเก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ควบคุมแต่ละชนิด และแต่ละพันธุ์ที่ผู้รับใบอนุญาตได้รวบรวมไว้ทุกคราว โดยให้มีปริมาณพอสมควรและเก็บไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี กรณีเมล็ดพันธุ์ที่สิ้นอายุการใช้เพาะปลูก หรือใช้ทำพันธุ์ตามที่แสดงไว้ในฉลาก และเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานให้ถือว่าเป็น “เมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพ” กรณีเมล็ดพันธุ์หรือวัตถุที่ทำเทียมเมล็ดพันธุ์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อหรือสำคัญผิดว่าเป็นเมล็ดพันธุ์แท้ เมล็ดพันธุ์ที่แสดงชนิด ชื่อพันธุ์ เครื่องหมายการค้า แหล่งรวบรวม หรือระบุวันเดือนปีที่รวบรวม หรือนำเข้าไม่ตรงกับความเป็นจริงและเมล็ดพันธุ์ที่มีเมล็ดพันธุ์อื่น หรือวัตถุอื่นผสมหรือเจือปนอยู่เกินปริมาณที่แจ้งไว้ในฉลาก หรือเกินอัตราส่วนที่ประกาศกำหนดให้ถือว่าเป็น “เมล็ดพันธุ์ปลอมปน” โดยห้ามมิให้ผู้ใดรวบรวม ขาย นำเข้า หรือส่งออกเมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพและเมล็ดพันธุ์ปลอมปน หากฝ่าฝืนต้องรับโทษตามกฎหมาย

     สำหรับเกษตรกร หากใช้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพย่อมส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการเสียเวลา เสียแรงงานในการปลูกซ่อมและอาจทำให้ปลูกได้ล่าช้ากว่าฤดูปลูกที่เหมาะสม รวมทั้งส่งผลให้ผลผลิตที่ได้ไม่มีคุณภาพและผลผลิตต่ำ ตลอดจนจำเป็นต้องลงทุนค่าเมล็ดพันธุ์เพิ่มมากขึ้นเกินความจำเป็น เนื่องจากต้องใช้อัตราปลูกสูงกว่าปกติ เมื่อคุณภาพของผลผลิตไม่ดีก็ย่อมเป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลง ตามมาเรียกว่าหากใช้เมล็ดพันธุ์ไม่ดีก็เตรียมรับสภาพความล้มเหลวในรอบการผลิตนั้นได้เลย

ที่มา : กรมวิชาการเกษตร

Recent Posts