ขั้นตอนการผลิต

สับปะรด

การเตรียมดินปลูก  ทำ การไถดะ 1 ครั้งให้ลึก 20 – 40 เซนติเมตร และไถพรวน 1 – 2 ครั้งขึ้นกับสภาพดิน และเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ สำหรับพื้นที่บุกเบิกใหม่ให้ขุดเอาตอ ไม้และรากไม้ใหญ่ออกจากแปลงแล้วปรับระดับดินให้มีความลาดเอียเล็กน้อย (ประมาณ 1 – 3 เปอร์เซ็นต์) และยกแปลงให้สูง 6 นิ้ว ทั้งนี้เพื่อช่วยไม่ให้เกิดน้ำขัง ในกรณีที่ดินมีชั้นดานให้ไถทำลายชั้นดาน และควรระวังในการไถดินบริเวณที่จอมปลวก  โดยอย่าทำให้ดินจากจอมปลวกกระจายออกไปในบริเวณรอบ ถ้ามีพื้นที่จอมปลวกเพียงเล็กน้อย ให้เว้นบริเวณดังกล่าวไว้ สำหรับพื้นที่เก่าที่เคยปลูกสับปะรดมาแล้ว ควรใช้รถไถสับฟันใบและต้นสับปะรดแล้วทิ้งไว้ 2 – 3 เดือน เพื่อให้เศษซากผุพังแล้วจึงไถกลบในขั้นตอนการเตรียมดินยกแปลงให้สูงประมาณ 6 นิ้ว   และระดับของแปลงปลูกควรมีความลาดเอียงประมาณ  1 – 3 เปอร์เซ็นต์เพื่อประโยชน์ในการระบายน้ำที่ สะดวกเช่นเดียวกัน

สภาพพื้นที่  เป็นพื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 600 เมตร มีความลาดเอียงเล็กน้อย เพื่อไม่ให้น้ำขังแต่ไม่เกิน 3%

ลักษณะดิน  เป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี ระดับหน้าดินลึก มีอินทรียวัตถุพอสมควร มีความเป็นกรดเล็กน้อย       ค่าความเป็นกรด – ด่าง (pH) ประมาณ 4.5 – 6.0

สภาพภูมิอากาศ  สับปะรดเป็นพืชทนแล้งที่ปลูกได้ดีในเขตร้อน ชื้นที่มีปริมาณน้ำฝนอยู่ ระหว่าง 1,000 – 1,500 มิลลิเมตร ต่อปี       มีการกระจายสม่ำเสมอ และมีอุณหภูมิระหว่าง 24 – 30 องศาเซลเซียส

พันธุ์  สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย เป็นสับปะรดเพียงพันธุ์เดียวในปัจจุบัน ที่เหมาะสำหรับส่งโรงงาน แต่สามารถใช้บริโภคได้ดี สับปะรดพันธุ์อื่นๆ เช่น พันธุ์ภูเก็ต ตราดสีทอง สวี และ นางและ เหมาะสำหรับบริโภคสดเท่านั้น ลักษณะ ที่ดีของสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียคือใบจะต้องมีขอบเรียบไม่มีหนามหรือมีหนามเพียงเล็กน้อยบริเวณปลายใบผลมีตาตื้นไม่เป็นร่องลึก รูปทรงของผลเป็นทรงกระบอกผลมีจุกเพียงจุกเดียว เมื่อพบลักษณะที่ไม่ดีเช่น ใบมีหนามมาก ตาเป็นร่องลึก ผลไม่เป็นทรงกระบอกมีหลายจุก ให้ติดต้นเหล่านั้นเพื่อทำลายทิ้ง ไม่นำส่วนขยายพันธุ์ไปปลูกต่อไป

การวางแผนเพื่อกระจายการผลิต  วางแผนการผลิตก่อนการปลูกสับปะรด  โดยกำหนดเวลาที่ต้องการเก็บเกี่ยวไว้ล่วงหน้า แล้วเลือกชนิดของ วัสดุอุปกรณ์ที่จะทำการเก็บเกี่ยวสับปะรด

วัสดุปุลูก  วัสดุปลูกที่ใช้โดยทั่วไปมีสองชนิด ได้แก่ หน่อและจุก การใช้หน่อปลูก จะบังคับดอกได้เมื่ออายุปลูก 8 – 12 เดือนขึ้นอยู่กับขนาดของหน่อที่ใช้ ในขณะที่การใช้จุกจะบังคับดอกได้เมื่ออายุปลูกประมาณ  10 – 14 เดือน แต่ไม่ว่าจะใช้หน่อหรือจุกก็ตาม ควรทำการคัดขนาดของวัสดุปลูกให้ได้ขนาดเดียวกันในแปลงปลูกเดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากใน เดือนเมษายน – มิถุนายนให้ปลูกด้วยจุกหรือหน่อขนาดเล็กในช่วงต้นฝน  สำหรับหน่อสามารถปลูกได้ตลอดปี ยกเว้นช่วงกลางฤดูฝน ที่มีฝนตกชุกเพราะจะทำให้เกิดโรคเน่าได้ง่าย 

จำนวนต้นและระยะปลูก  ควรปลูกให้ได้จำนวนต้นต่อไร่ 8,000 – 12,000 ต้นโดยการปลูกเป็นแถวคู่ และใช้ระยะปลูก25x50x100 ซม.จะทำให้ปลูกได้จำนวน 8,533 ต้นต่อไร่ ถ้าต้องการปลูกให้ได้จำนวนต้นเพิ่มขึ้นให้ปรับระยะปลูกให้เหมาะสม  โดยคำนึงถึงความสะดวกในการปฏิบัติงานหลังปลูก และการควบคุมขนาดของผลสับปะรด

การชุบหน่อ ก่อนปลูกควรชุบหน่อหรือจุก ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราเพื่อป้องกัน โรคต้นเน่า และรากเน่าที่เกิดจากเชื้อรา ไฟทอฟธอรา โดยเฉพาะ การปลูกในช่วงกลางฤดูฝน

การดูแลรักษา

การให้ปุ๋ยต้นปลูก  การใส่ปุ๋ยรองพื้น : แนะนำให้ใส่ปุ๋ย 16 – 20 – 0 ต้นละ 15 กรัม  (1 ช้อนแกง) ข้างต้นปลูกในกรณีที่อินทรีย์วัตถุในดินต่ำกว่า 1% ให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกปริมาณ 1 ตัน       ผสมหินฟอสเฟต 50 – 100 กิโลกรัม / ไร่ โดยโรยเป็นแถวหลังไถแปรตามแนวร่อง ปลูกสับปะรด เพื่อกระตุ้นการออกราก การให้ปุ๋ยทางกาบใบ : แนะนำให้ใส่ปุ๋ยที่มีอัตรา 2:1:3 เช่น 12 – 6 – 15 หรือ13 – 13 – 21 ,อัตรา 40 กรัม/ต้น ( 3 ช้อนแกง) แบ่งใส่ 2 – 3 ครั้ง ครั้งแรกหลังปลูก 1 – 3 เดือนครั้งต่อๆ ไปห่างกัน 2 – 3 เดือน โดยให้ปุ๋ยบริเวณกาบใบล่างของต้นสับปะรด

การให้ปุ๋ยทางใบ
: เมื่อพืชได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอแนะนำให้ใส่ปุ๋ยสูตร 23 – 0 – 25 (ยูเรียผสมโพแทสเซียมซัลเฟต 1:1) ผสมน้ำความเข้มข้น  5  เปอร์เซ็นต์ ต้นละ 75 มิลลิลิตร/ครั้ง จำนวน 3 ครั้ง (โดยวีธีการตักหยอด หรือฉีดพ่น) ในระยะก่อนบังคับดอก 5 วัน และหลังบังคับดอก 20 วัน

การใส่ปุ๋ยต้นตอ (สับปะรดตอ)  การใส่ปุ๋ยทางกาบใบเพื่อเร่งหน่อใช้ยูเรีย หรือ แอมโมเนียซัลเฟต 7 – 15 กรัม/ต้น ใส่บริเวณกาบใบล่างของต้นตอ เดิมหลังตัดใบแล้ว

การให้น้ำ  สับปะรดเป็นพืชทนแล้งและเป็นพืชที่ปลูกในเขตที่มี   ปริมาณฝนค่อนข้าง ต่ำเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกโดยใช้น้ำฝนธรรมชาติ แต่การให้น้ำสับปะรดจะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น  ขนาดผลมีความสม่ำเสมอขึ้น และได้ขนาดตามความต้องการของโรงงาน  โดยเฉพาะสับปะรดหลังหยอดสารบังคับดอกแล้ว   หากขาดน้ำผลสับปะรดจะมีขนาดเล็กกว่าปกติมาก และ ผลจะมีลักษณะหัวแหลมทรงคล้ายเจดีย์ดังนั้นการให้น้ำสับปะรดอย่างสม่ำเสมอในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะช่วงการเจริญเติบโตของต้น ช่วงหลังการหยอดสารบังคับดอกตลอดจนถึงช่วงก่อนเก็บเกี่ยวมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อรักษาขนาด และคุณภาพของผลสับปะรดโดยในช่วง แล้งให้น้ำอัตรา 300 มิลลิลิตร /ต้น/สัปดาห์ และหยุดให้น้ำก่อนการเก็บเกี่ยว 2- 4 สัปดาห์

 การบังคับดอก  การบังคับดอกสามารถทำได้เมื่อต้นสับปะรดมีน้ำหนัก ประมาณ 2.5 กิโลกรัม โดยการใช้เอทธิฟอน (39.5เปอร์เซ็นต์) จำนวน  8  มิลลิลิตร  ร่วมกับปุ๋ยยูเรีย 300  กรัม  ผสมน้ำ 20 ลิตร  แล้วหยอดยอดสับปะรดต้นละ 60 – 75 มิลลิลิตร  หยอด 2 ครั้ง ห่างกัน 4 – 7 วัน หรือ ใช้ถ่านแก๊ส   (แคลเซียมคาร์ไบด์) ต้นละประมาณ  3 – 5 กรัม (ครึ่งช้อนชา) หยอดลงไปบนยอดแล้วหยอดน้ำตามประมาณ 50 มิลลิลิตร การบังคับดอกควรทำในช่วงเย็น หรือกลางคืนหากมีฝนตกลงมาภายใน 2 ชั่วโมง หลังหยอดสารบังคับดอก ควรทำการบังคับซ้ำภายใน 2 – 3 วัน

 สุขลักษณะและอนามัย  กำจัดวัชพืชรอบๆ แปลงปลูกสับปะรดและกำจัดเศษวัสดุจากบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้งานแล้ว โดยการฝังดินหรือเผาทำลาย เก็บสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และปุ๋ยเคมีในที่ปลอดภัย และมีกุญแจปิดทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช หลังการใช้งานแล้ว หากเกิดการชำรุดทำการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน

การป้องกันกำจัดศัตรูสับปะรด

โรครากเน่าหรือต้นเน่า  เกิดจากเชื้อราไฟทอฟธอราจะระบาดมากในช่วงฤดูฝนและระบาดรุนแรงมากเป็นพิเศษ ในพื้นที่ ที่มีสภาพเป็นด่าง เชื้อจะเข้าทำลายที่ใบ ต้น และผล

การป้องกันกำจัด  ปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้ต่ำกว่า 5.5 โดยใช้กำมะถันผง หรือ ปุ๋ยที่มีฤทธิ์ตกค้าง เป็นกรดจัดให้มีการระบายน้ำที่ดีป้องกันและกำจัดโดยใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช โดยจุ่มหน่อพันธุ์ก่อนปลูก และพ่นหลังปลูกแล้วทุก ๆ 2 เดือน ด้วยสารเคมีเมตาแลคซิล อัตรา 20 – 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือ อีฟอไซด์อลูมินัม ฟอสเอทธิล อลูมินัม หรือ อลูมินัม เอธิลฟอสเฟต อัตรา 80 – 100 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ในกรณีที่พบระบาดในแปลง ให้เก็บต้นที่เป็นโรค เผาทำลาย แล้วพ่นสารป้องกัน กำจัดโรคพืชดังกล่าว กับต้นบริเวณข้างเคียง

โรคผลแกน  เกิดจากปฏิกิริยาร่วมระหว่างเชื้อแบคทีเรียเออร์วิเนียกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของผลสับปะรด โรคนี้จะระบาดในระยะ         7 – 10 วัน ก่อนที่ผลสับปะรดจะแก่เก็บเกี่ยวได้

การป้องกันกำจัด  เพิ่มอัตราปลูกต่อไร่ให้มากขึ้นเพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิในแปลง สับปะรดให้สม่ำเสมอเพิ่มเปอร์เซ็นต์ความเป็นกรดในผล โดยการใช้ โพแทสเซียมคลอไรด์ หลังการบังคับดอกแล้ว 75 วัน

การควบคุมวัชพืชโดยไม่ใช้สารกำจัดวัชพืช  การเตรียมแปลงควรไถให้ลึก และพรวน 1 – 2 ครั้ง  คราดเก็บเศษซากวัชพืชออกจากแปลง เพื่อกำจัดวัชพืชยืนต้นหรือวัชพืชข้ามฤดูซึ่งขยายพันธุ์ด้วย ราก เหง้า ไหล ภายหลังปลูกสับปะรด 1 – 2 เดือนเมื่อวัชพืชงอกแล้วต้องรีบกำจัดโดยใช้จอบดายวัชพืชระหว่างแถวปลูก   ระหว่างต้นสับปะรดภายในแถวปลูกควรใช้มือถอน ควรกระทำก่อนวัชพืชออกดอกและต้องระวังไม่ให้รากและต้นสับปะรดถูกกระทบกระเทือน

การควบคุมวัชพืชโดยใช้สารกำจัดวัชพืช  การใช้สารกำจัดวัชพืชเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ มากกว่าการควบคุมวัชพืชโดยการใช้จอบดายแต่
ต้องเลือกใช้สารกำจัดวัชพืชตามชนิดและอัตราที่เหมาะสมกับชนิดวัชพืชและ ปริมาณความหนาแน่นของวัชพืชและช่วงเวลาการเจริญเติบโตของสับปะรด

การเกี่ยวและการเก็บรักษา  เก็บเกี่ยวผลสับปะรดที่มีความแก่ (สุก) ตามมาตรฐานหลังการบังคับดอก 145-165 วันห้ามใช้สารเคมีทุกชนิดเร่งให้สับปะรดสุกก่อนกำหนดคัดทิ้งสับปะรดที่มีผลแกน แดดเผา ขนาดใหญ่หรือเล็กเกิน มาตรฐาน หรือผลที่มีรูปทรงเจดีย์หลังเก็บเกี่ยวควรส่งโรงงานทันที ไม่ควรทิ้งไว้นานจะทำให้สับปะรดสุกเกินไป

การขนส่ง  จัดเรียงผลสับปะรดโดยเอาด้านจุกลงข้างล่าง เพื่อรับน้ำหนักกันช้ำป้องกันผลสับปะรดไม่ให้ได้รับอุณหภูมิสูงเกินไป ระหว่างการเก็บเกี่ยวและขนส่งใช้ยานพาหนะที่สะอาดและเหมาะสมกับปริมาณสับปะรด

การบันทึกข้อมูล  ควรมีการบันทึกข้อมูลต่างๆ ในเรื่องการปฏิบัติงาน ราคาผลผลิตการระบาดของโรค การใช้ปุ๋ย และสารเคมีต่าง ๆ วันที่ทำการใส่ปุ๋ยและสารเคมี ชนิดปุ๋ย ผลผลิต    เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพยากรณ์การผลิตในปีต่อๆไปตลอดจนใช้เป็นแนวทางการปรับปรุงผลผลิตและคุณของสับปะรดบันทึกสภาพอากาศ เช่น ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ลม พายุ เก็บรวบรวมผลการวิเคราะห์ดิน

ที่มา : กรมวิชาการเกษตร

 

Recent Posts